กุมภลักษณ์ หรือ โบก ในภาษาอีสาน (อังกฤษ: Pothole, Giant's cauldron, Giants kettles) หมายถึงหลุมที่เกิดบริเวณพื้นท้องน้ำ บริเวณน้ำตก และบริเวณที่ทางน้ำไหลเชี่ยว เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติทางธรณีวิทยาที่พบเห็นได้ทั่วไป มีลักษณะเป็นหลุมคล้ายหม้อ (กุมภ แปลว่าหม้อ) หลุมเหล่านี้มีหลายขนาด ทั้งขนาดใหญ่ จนถึงขนาดเป็นรูลึกเล็ก ๆ ภายในหลุมมักจะเห็นก้อนหิน กรวด ทราย กองอยู่ก้นหลุมกักขังก้อนหินกรวดหรือทรายนั้น ๆไว้ พบเห็นทั่วไปในบริเวณทางที่น้ำไหลผ่านชั้นหินในช่วงฤดูน้ำหลาก กุมภลักษณ์นี้เป็นตัวชี้ว่าบริเวณใดเคยเป็นท้องน้ำหรือเป็นน้ำตก หรือบริเวณที่ลำน้ำมาบรรจบกัน

สามพันโบก กุมภลักษณ์ที่มีชื่อเสียงของไทย จังหวัดอุบลราชธานี ติดแม่น้ำโขง
กุมภลักษณ์

การเกิด แก้

กุมภลักษณ์ เกิดขึ้นจากการขัดสีของก้อนหิน ก้อนกรวดหรือเม็ดทราย ที่น้ำพัดพามากักอยู่ในแอ่งหรือร่องหรือรูเล็กๆ เมื่อมีกระแสน้ำเข้ามาก็จะถูกกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวและปั่นป่วน ปั่นให้เคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลาด้วยความเร็วสูง ก้อนกรวดที่หมุนเวียนอย่างรวดเร็วในกระแสน้ำวนเคลื่อนที่หมุนวนเป็นรอบหลุมเสมือนเครื่องมือเจาะหิน เมื่อเวลาผ่านไปนานขึ้น หินพื้นท้องน้ำจะถูกกร่อนให้เป็นหลุมตั้งฉากกับพื้นผิวโลก ดังนั้นผนังบ่อจึงถูกกัดกร่อน ขัดสีผิวผนังภายในโดยรอบให้ใหญ่ขึ้นและลึกจนเป็นหลุม และลึกลงเรื่อยๆ โดยก้นหลุมจะมีขนาดกว้างกว่าปากหลุม

ประเภท แก้

กุมภลักษณ์เดี่ยว

หมายถึง กุมภลักษณ์ที่แสดงลักษณะเป็นหลุมแนวดิ่งทรงกระบอก มีพื้นที่หน้าตัดเป็นวงกลม-รี แสดงความหลากหลายทั้งขนาดและรูปร่าง ผนังด้านในของกุมลักษณ์ไม่เรียบ เกิดเป็นแนวสันนูนและร่อง สลับกันไป คล้ายเกลียวของนอต บริเวณด้านบนของกุมภลักษณ์ มักพบลักณะการกร่อนเป็นวงกว้างออกไป ในบางบริเวณพบว่ากุมภลักษณ์เดี่ยวเกิดบริเวณใกล้กัน แต่มีขนาดต่างกัน

กุมภลักษณ์กลุ่ม

หมายถึง กุมภลักษณ์ที่พัฒนาจากกุมภลักษณ์หลายบ่อในช่วงเวลาที่พร้อมกันและแตกต่างกัน

การพัฒนา แก้

การพัฒนาหรือโตของกุมภลักษณ์ ขึ้นกับชนิดและลักษณะของหินท้องน้ำ ความชันของทางน้ำ และอัตราการไหลของกระแสน้ำ โดยทั่วไปการโตของกุมภลักษณ์ ที่เกิดตามแหล่งน้ำตามธรรมชาติ มีอัตราเฉลี่ย เป็นหน่วย เซนติเมตรต่อปี แต่ในบางประเทศ เช่น สวิสเซอร์แลนด์ พบว่า มีอัตราการโตเฉลี่ย มากกว่า 1 เมตรต่อปีทั้งในแนวดิ่ง และในแนวราบ

ประโยชน์จากการศึกษากุมภลักษณ์ แก้

กุมภลักษณ์ เป็นหลักฐานที่บ่งบอกถึงการกร่อนในแนวดิ่ง เกิดขึ้นจากตัวกลางที่เป็นทางน้ำ โดยการกร่อนที่เกิดจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ แต่เกิดต่อเนื่องยาวนาน บริเวณที่พบกุมภลักษณ์ จะเป็นส่วนของพื้นท้องน้ำของทางน้ำที่ไหลแบบปั่นป่วน บริเวณพื้นที่ที่เป็นภูเขา ยอดเขาหรือพื้นที่ที่ห่างจากทางน้ำหรือใกล้กับทางน้ำ หลายแห่งในประเทศ พบว่ามีลักษณะกุมภลักษณ์เกิดขึ้น จึงสามารถที่จะแปลความถึงสภาพแวดล้อมในอดีตได้ว่า บริเวณดังกล่าวที่พบกุมภลักษณ์ ครั้งหนึ่งเคยเป็นส่วนของหินพื้นท้องน้ำ และทางน้ำที่เคยไหลผ่านมีปริมาณ และความเร็วมาก ในช่วงเวลาหนึ่งในอดีต

อ้างอิง แก้