กุฎีเจริญพาศน์, กุฎีล่าง, กุฎีกลาง หรือ มัสยิดฮุซัยนียะฮ์[1] เป็นอิมามบาระฮ์ชีอะฮ์แห่งหนึ่งตั้งอยู่ริมคลองบางหลวง ถนนอิสรภาพ แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร

กุฎีเจริญพาศน์
Imam Barah Charoenpasana
แผนที่
ข้อมูลทั่วไป
สถาปัตยกรรมขนมปังขิง (ผสมผสานระหว่างไทย-ตะวันตก)
เมืองถนนอิสรภาพ แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร
ประเทศไทย ประเทศไทย
เริ่มสร้างพ.ศ. 2328
การออกแบบและการก่อสร้าง
ผู้พัฒนาโครงการพระยาจุฬาราชมนตรี (อากาหยี่)

ประวัติ แก้

กุฎีเจริญพาศน์ เดิมเรียกว่า กุฎีล่าง สร้างโดยพระยาจุฬาราชมนตรี (อากาหยี่) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ถือเป็นกุฎีแห่งที่สองของกรุงรัตนโกสินทร์ ส่วนกุฎีแห่งแรกคือกุฎีหลวง ซึ่งสร้างในรัชกาลเดียวกัน[2] บุรพชนของชาวชีอะฮ์เชื้อสายเปอร์เซียในบริเวณกุฎีนี้มาจากเมืองโกม ประเทศอิหร่าน[3] ถือเป็นสถานที่ตั้งถิ่นฐานอันเก่าแก่และในปัจจุบันก็ยังมีผู้สืบเชื้อสายอาศัยอยู่หนาแน่นกว่าที่อื่น ๆ[4]: 153  ด้วยมีมัสยิดอีกสองแห่งที่อยู่ใกล้เคียงคือมัสยิดผดุงธรรมอิสลามและมัสยิดดิลฟัลลาห์ ด้วยเหตุนี้กุฎีล่างจึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า "กุฎีกลาง" เพราะตั้งอยู่ระหว่างมัสยิดทั้งสอง และด้วยที่เป็นชุมชนชีอะฮ์ขนาดใหญ่ ผู้คนจึงเรียกชุมชนมุสลิมนี้อย่างรวม ๆ ว่า "พวกสามกะดีสี่สุเหร่า"[5]

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการสร้างสะพานเจริญพาศน์ 33 ในวโรกาสที่พระองค์มีพระชนมายุครบ 33 พรรษา จึงได้ตั้งชื่อสะพานดังกล่าว[6] เมื่อสะพานแล้วเสร็จ กุฎีล่างจึงเปลี่ยนมาใช้ชื่อทางการเป็น "กุฎีเจริญพาศน์" ตามชื่อสะพานมาจนถึงปัจจุบัน[5][7]

สถาปัตยกรรม แก้

กุฎีเจริญพาศน์ เป็นเรือนมนิลาประดับด้วยไม้ฉลุ มีศิลปะแบบขนมปังขิง[2] หลังคาประดับกระเบื้องโมเสกสีสันสดใส[8]

พิธีแห่เจ้าเซ็น แก้

เมื่อถึงเดือนมะหะหร่ำ จะมีพิธีที่ไทยเรียกว่า "พิธีเจ้าเซ็น" หรือ "แห่เจ้าเซ็น" ที่กระทำในสิบวันแรกของเดือน เพื่อระลึกถึงอิหม่ามฮุเซ็น หลานของนบีมุฮัมมัด ที่ถูกสังหารที่กัรบะลาอ์ ในพิธีจะมีการแห่ตุ้มบุด หรือ โต๊ะราบัด ซึ่งคือเครื่องจำลองคานหามบรรจุศพอิหม่ามฮุเซ็นมาแห่ และมีการแสดงความเสียใจด้วยการทุบอก เรียกว่า มะต่ำ พร้อมกับการขับโศลกเรียกว่า มะระเสี่ย มีการสวมเครื่องแต่งกายด้วยผ้าคลุมสีขาวเรียกว่า กัฟฟาหนี่ ซึ่งแทนผ้าห่อศพอิหม่ามฮุเซ็น นอกจากนี้ยังมีการแห่แหนสิ่งที่รำลึกถึงการตายของอิหม่าม[9] รวมทั้งมีการเดินลุยไฟ[3]และการควั่นหัวเพื่อแสดงศรัทธา[6][4]: 116 

ช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ได้มีหมายรับสั่งให้นำพิธีกรรมดังกล่าวไปถวายให้ทอดพระเนตรในพระบรมมหาราชวังหน้าพระที่นั่งพุทไธศวรรย์ติดต่อกันถึงสองปี (ในปี พ.ศ. 2358 และ พ.ศ. 2359) และมีพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ได้เสด็จชมพิธีดังกล่าวอยู่เสมอ ครั้งหลังสุดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ, สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ทอดพระเนตร ณ กุฎีเจริญพาศน์ เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2496[10]

อ้างอิง แก้

  1. "มุสลิมในธนบุรี". Aalulbayt. สืบค้นเมื่อ 4 ตุลาคม 2020.
  2. 2.0 2.1 "กุฎีเจริญพาศน์". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม. 30 ตุลาคม 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 กรกฎาคม 2013. สืบค้นเมื่อ 17 พฤษภาคม 2015.
  3. 3.0 3.1 เสาวนีย์ จิตต์หมวด, รศ. (6 สิงหาคม 2005). "มุสลิมในธนบุรี". ประชาไท. สืบค้นเมื่อ 17 พฤษภาคม 2015.
  4. 4.0 4.1 สุดารา สุจฉายา, บ.ก. (1999). นักเดินทาง...เพื่อความเข้าใจในแผ่นดิน : ธนบุรี. กรุงเทพฯ: สารคดี. ISBN 974-8211-87-8.
  5. 5.0 5.1 ภิมรพี ธุรารัตน์ (17 สิงหาคม 2015). "กุฎีเจริญพาศน์: สายสัมพันธ์ศาสนาและชุมชน". สารคดี. สืบค้นเมื่อ 8 กันยายน 2015.
  6. 6.0 6.1 วราห์ โรจนวิภาต. "สะพานเจริญพาศน์กับหลุมหลบภัย". มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 มีนาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 17 พฤษภาคม 2015.
  7. "ท่องเที่ยว 50 เขต ณ เขตบางกอกใหญ่" (PDF). Science Tech. 33 : 9. เมษายน–มิถุนายน 2011. สืบค้นเมื่อ 17 พฤษภาคม 2015.
  8. สุภาวดี เจ๊ะหมวก (18 สิงหาคม 2015). "กุฎีเจริญพาศน์และมัสยิดต้นสน : โรงเรียนกวดศรัทธาของบรรดามุสลิมรุ่นเยาว์". สารคดี. สืบค้นเมื่อ 8 กันยายน 2015.
  9. ระลึกวันอาชูรอ พิธีแห่เจ้าเซ็นกุฎีเจริญพาศน์. Thai PBS News. 8 พฤศจิกายน 2014. สืบค้นเมื่อ 17 พฤษภาคม 2015.
  10. ธเนศ ช่วงพิชิต (2007). "วิถีความเชื่อ". ใน จักรพันธุ์ กังวาฬ; ธเนศ ช่วงพิชิต; อัมพร จิรัฐติกร; สุดารา สุจฉายา (บ.ก.). กรุ่นกลิ่นอารยธรรมเปอร์เซียในเมืองสยาม. กรุงเทพฯ: มติชน. p. 45. ISBN 978-974-02-0043-7.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

13°44′19″N 100°29′16″E / 13.738597°N 100.487817°E / 13.738597; 100.487817