กิ่งอำเภอ เป็นส่วนราชการที่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐไปปฏิบัติงานประจำอยู่ มีฐานะเป็นส่วนย่อยของอำเภอซึ่งใหญ่กว่าตำบล โดยอำเภอหนึ่ง ๆ อาจแบ่งพื้นที่ออกเป็นกิ่งอำเภอได้ตามความจำเป็นในการปกครอง และในเวลาต่อมา หากกิ่งอำเภอหนึ่ง ๆ มีชุมชนและชุมนุมการค้าหนาแน่นหรือมีสภาพเจริญขึ้นกว่าเดิมมาก ก็จะมีพระราชกฤษฎีกายกฐานะกิ่งอำเภอนั้นขึ้นเป็นอำเภอ อำเภอในประเทศไทยที่ตั้งขึ้นในสมัยหลังมานี้จึงมักจะผ่านการเป็นกิ่งอำเภอมาก่อน มีไม่กี่แห่งที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นเป็นอำเภอทันที

ในปี 2550 ได้มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 124 ตอนที่ 46 ก หน้า 14 ยกกิ่งอำเภอบางแห่งเป็นอำเภอ[1] มีผลให้กิ่งอำเภอทั้ง 81 แห่งในขณะนั้นยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอทั้งหมด ขณะนี้ประเทศไทยจึงไม่มีเขตการปกครองในระดับกิ่งอำเภอ[ต้องการอ้างอิง]

การจัดตั้ง แก้

การตั้งกิ่งอำเภอทำโดยประกาศกระทรวงมหาดไทย โดยมีหลักเกณฑ์การจัดตั้งตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 64 ของพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 ดังนี้

  1. อำเภอใดมีท้องที่กว้างขวางซึ่งจะตรวจตราให้ตลอดท้องที่ได้โดยยาก แต่ในท้องที่นั้นมีราษฎรไม่มากพอที่จะตั้งเป็นอำเภอหนึ่งต่างหาก หรือ
  2. ท้องที่อำเภอใดมีราษฎรจำนวนมากอยู่ห่างไกลที่ว่าการอำเภอ ยากแก่การตรวจตรา แต่ท้องที่เล็กเกินไป ไม่สมควรจะตั้งเป็นอำเภอหนึ่งต่างหาก

นอกจากหลักเกณฑ์ข้างต้น กระทรวงมหาดไทยโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2539 ยังได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดตั้งกิ่งอำเภอไว้เป็นแนวทางปฏิบัติดังนี้

ก. กรณีเป็นชุมชนหนาแน่น

  1. มีราษฎรไม่น้อยกว่า 30,000 คนขึ้นไป
  2. มีตำบลไม่น้อยกว่า 5 ตำบล
  3. ได้รับความเห็นชอบจากสภาตำบลหรือองค์การบริหารส่วนตำบล หัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอ หัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดและสภาจังหวัด

ข. กรณีเป็นชุมชนห่างไกล

  1. มีราษฎรไม่น้อยกว่า 15,000 คนขึ้นไป
  2. มีตำบลไม่น้อยกว่า 4 ตำบล
  3. ที่ว่าการกิ่งอำเภอใหม่ต้องห่างจากที่ว่าการอำเภอเดิมไม่น้อยกว่า 25 กิโลเมตร
  4. ได้รับความเห็นชอบจากสภาตำบลหรือองค์การบริหารส่วนตำบล หัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอ หัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัด และสภาจังหวัด

การบริหาร แก้

ในการบริหารราชการของกิ่งอำเภอนั้น นอกจากมีนายอำเภอท้องที่เป็นผู้บังคับบัญชาแล้ว จะมี ปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ รับผิดชอบในการบริหารราชการรองจากนายอำเภอ และปฏิบัติราชการแทนนายอำเภอ ในเวลาที่นายอำเภอมิได้มาอยู่ที่กิ่งอำเภอ โดยปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ เป็นข้าราชการในสังกัดกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย

การยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอในปี พ.ศ. 2550 แก้

กระทรวงมหาดไทยได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกายกฐานะกิ่งอำเภอขึ้นเป็นอำเภอเมื่อต้นปี พ.ศ. 2550 คณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 2 ได้มีมติเห็นควรอนุมัติหลักการให้ยกฐานะกิ่งอำเภอเป็นอำเภอ เฉพาะที่มีศักยภาพสูงจำนวน 20 แห่ง กระทรวงมหาดไทยจึงได้ถอนเรื่องกลับไปจากการประชุมคณะรัฐมนตรี แล้วนำกลับมาพิจารณาอีกครั้ง โดยมีความเห็นว่าการยกฐานะกิ่งอำเภอเป็นอำเภอทั้งหมดนั้นมีเหตุผลและมีความจำเป็นอย่างยิ่ง จึงเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเป็นกรณีพิเศษ

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 คณะรัฐมนตรีมีความเห็นชอบอนุมัติให้ร่างพระราชกฤษฎีกายกฐานะของกิ่งอำเภอขึ้นเป็นอำเภอ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารงานของหน่วยบริหารราชการส่วนภูมิภาค และถือเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ด้วย ซึ่งในช่วงนั้นประเทศไทยมีกิ่งอำเภอ 81 แห่ง ใน 39 จังหวัด ได้แก่

  1. จังหวัดกาฬสินธุ์ มี 4 กิ่งอำเภอ คือ กิ่งอำเภอสามชัย กิ่งอำเภอนาคู กิ่งอำเภอฆ้องชัย และกิ่งอำเภอดอนจาน
  2. จังหวัดกำแพงเพชร มี 2 กิ่งอำเภอ คือ กิ่งอำเภอโกสัมพีนครและกิ่งอำเภอบึงสามัคคี
  3. จังหวัดขอนแก่น มี 6 กิ่งอำเภอ คือ กิ่งอำเภอโคกโพธิ์ไชย กิ่งอำเภอซำสูง กิ่งอำเภอหนองนาคำ กิ่งอำเภอบ้านแฮด กิ่งอำเภอโนนศิลา และกิ่งอำเภอเวียงเก่า
  4. จังหวัดจันทบุรี มี 1 กิ่งอำเภอ คือ กิ่งอำเภอเขาคิชฌกูฏ
  5. จังหวัดฉะเชิงเทรา มี 1 กิ่งอำเภอ คือ กิ่งอำเภอคลองเขื่อน
  6. จังหวัดชลบุรี มี 1 กิ่งอำเภอ คือ กิ่งอำเภอเกาะจันทร์
  7. จังหวัดชัยนาท มี 2 กิ่งอำเภอ คือ กิ่งอำเภอหนองมะโมงและกิ่งอำเภอเนินขาม
  8. จังหวัดชัยภูมิ มี 1 กิ่งอำเภอ คือ กิ่งอำเภอซับใหญ่
  9. จังหวัดเชียงราย มี 2 กิ่งอำเภอ คือ กิ่งอำเภอเวียงเชียงรุ้งและกิ่งอำเภอดอยหลวง
  10. จังหวัดเชียงใหม่ มี 2 กิ่งอำเภอ คือ กิ่งอำเภอแม่ออนและกิ่งอำเภอดอยหล่อ
  11. จังหวัดตรัง มี 1 กิ่งอำเภอ คือ กิ่งอำเภอหาดสำราญ
  12. จังหวัดตราด มี 2 กิ่งอำเภอ คือ กิ่งอำเภอเกาะกูดและกิ่งอำเภอเกาะช้าง
  13. จังหวัดตาก มี 1 กิ่งอำเภอ คือ กิ่งอำเภอวังเจ้า
  14. จังหวัดนครพนม มี 1 กิ่งอำเภอ คือ กิ่งอำเภอวังยาง
  15. จังหวัดนครราชสีมา มี 6 กิ่งอำเภอ คือ กิ่งอำเภอเมืองยาง กิ่งอำเภอบัวลาย กิ่งอำเภอสีดา กิ่งอำเภอเทพารักษ์ กิ่งอำเภอพระทองคำ และกิ่งอำเภอลำทะเมนชัย
  16. จังหวัดนครศรีธรรมราช มี 2 กิ่งอำเภอ คือ กิ่งอำเภอนบพิตำและกิ่งอำเภอช้างกลาง
  17. จังหวัดนครสวรรค์ มี 2 กิ่งอำเภอ คือ กิ่งอำเภอชุมตาบงและกิ่งอำเภอแม่เปิน
  18. จังหวัดน่าน มี 1 กิ่งอำเภอ คือ กิ่งอำเภอภูเพียง
  19. จังหวัดบุรีรัมย์ มี 2 กิ่งอำเภอ คือ กิ่งอำเภอบ้านด่านและกิ่งอำเภอแคนดง
  20. จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มี 1 กิ่งอำเภอ คือ กิ่งอำเภอสามร้อยยอด
  21. จังหวัดพะเยา มี 2 กิ่งอำเภอ คือ กิ่งอำเภอภูกามยาวและกิ่งอำเภอภูซาง
  22. จังหวัดพัทลุง มี 1 กิ่งอำเภอ คือ กิ่งอำเภอศรีนครินทร์
  23. จังหวัดพิจิตร มี 3 กิ่งอำเภอ คือ กิ่งอำเภอดงเจริญ กิ่งอำเภอบึงนาราง และกิ่งอำเภอสากเหล็ก
  24. จังหวัดมหาสารคาม มี 2 กิ่งอำเภอ คือ กิ่งอำเภอกุดรังและกิ่งอำเภอชื่นชม
  25. จังหวัดร้อยเอ็ด มี 3 กิ่งอำเภอ คือ กิ่งอำเภอเชียงขวัญ กิ่งอำเภอหนองฮี และกิ่งอำเภอทุ่งเขาหลวง
  26. จังหวัดระนอง มี 1 กิ่งอำเภอ คือ กิ่งอำเภอสุขสำราญ
  27. จังหวัดระยอง มี 2 กิ่งอำเภอ คือ กิ่งอำเภอเขาชะเมาและกิ่งอำเภอนิคมพัฒนา
  28. จังหวัดราชบุรี มี 1 กิ่งอำเภอ คือ กิ่งอำเภอบ้านคา
  29. จังหวัดลำพูน มี 1 กิ่งอำเภอ คือ กิ่งอำเภอเวียงหนองล่อง
  30. จังหวัดเลย มี 2 กิ่งอำเภอ คือ กิ่งอำเภอเอราวัณและกิ่งอำเภอหนองหิน
  31. จังหวัดศรีสะเกษ มี 2 กิ่งอำเภอ คือ กิ่งอำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณและกิ่งอำเภอศิลาลาด
  32. จังหวัดสตูล มี 1 กิ่งอำเภอ คือ กิ่งอำเภอมะนัง
  33. จังหวัดสมุทรปราการ มี 1 กิ่งอำเภอ คือ กิ่งอำเภอบางเสาธง
  34. จังหวัดสระแก้ว มี 2 กิ่งอำเภอ คือ กิ่งอำเภอโคกสูงและกิ่งอำเภอวังสมบูรณ์
  35. จังหวัดสุราษฎร์ธานี มี 1 กิ่งอำเภอ คือ กิ่งอำเภอวิภาวดี
  36. จังหวัดสุรินทร์ มี 4 กิ่งอำเภอ คือ กิ่งอำเภอพนมดงรัก กิ่งอำเภอศรีณรงค์ กิ่งอำเภอเขวาสินรินทร์ และกิ่งอำเภอโนนนารายณ์
  37. จังหวัดหนองคาย มี 4 กิ่งอำเภอ คือ กิ่งอำเภอสระใคร กิ่งอำเภอเฝ้าไร่ กิ่งอำเภอรัตนวาปี และกิ่งอำเภอโพธิ์ตาก
  38. จังหวัดอุดรธานี มี 2 กิ่งอำเภอ คือ กิ่งอำเภอกู่แก้วและกิ่งอำเภอประจักษ์ศิลปาคม
  39. จังหวัดอุบลราชธานี มี 5 กิ่งอำเภอ คือ กิ่งอำเภอนาเยีย กิ่งอำเภอนาตาล กิ่งอำเภอเหล่าเสือโก้ก กิ่งอำเภอสว่างวีระวงศ์ และกิ่งอำเภอน้ำขุ่น

จากนั้นเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2550 จึงมีพระราชกฤษฎีกาตั้งอำเภอฆ้องชัย อำเภอดอนจาน อำเภอนาคู อำเภอสามชัย อำเภอโกสัมพีนคร อำเภอบึงสามัคคี อำเภอโคกโพธิ์ไชย อำเภอซำสูง อำเภอโนนศิลา อำเภอบ้านแฮด อำเภอเวียงเก่า อำเภอหนองนาคำ อำเภอเขาคิชฌกูฏ อำเภอคลองเขื่อน อำเภอเกาะจันทร์ อำเภอเนินขาม อำเภอหนองมะโมง อำเภอซับใหญ่ อำเภอดอยหลวง อำเภอเวียงเชียงรุ้ง อำเภอดอยหล่อ อำเภอแม่ออน อำเภอหาดสำราญ อำเภอเกาะกูด อำเภอเกาะช้าง อำเภอวังเจ้า อำเภอวังยาง อำเภอเทพารักษ์ อำเภอบัวลาย อำเภอพระทองคำ อำเภอเมืองยาง อำเภอลำทะเมนชัย อำเภอสีดา อำเภอช้างกลาง อำเภอนบพิตำ อำเภอชุมตาบง อำเภอแม่เปิน อำเภอภูเพียง อำเภอแคนดง อำเภอบ้านด่าน อำเภอสามร้อยยอด อำเภอภูกามยาว อำเภอภูซาง อำเภอศรีนครินทร์ อำเภอดงเจริญ อำเภอบึงนาราง อำเภอสากเหล็ก อำเภอกุดรัง อำเภอชื่นชม อำเภอเชียงขวัญ อำเภอทุ่งเขาหลวง อำเภอหนองฮี อำเภอสุขสำราญ อำเภอเขาชะเมา อำเภอนิคมพัฒนา อำเภอบ้านคา อำเภอเวียงหนองล่อง อำเภอหนองหิน อำเภอเอราวัณ อำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ อำเภอศิลาลาด อำเภอมะนัง อำเภอบางเสาธง อำเภอโคกสูง อำเภอวังสมบูรณ์ อำเภอวิภาวดี อำเภอเขวาสินรินทร์ อำเภอโนนนารายณ์ อำเภอพนมดงรัก อำเภอศรีณรงค์ อำเภอเฝ้าไร่ อำเภอโพธิ์ตาก อำเภอรัตนวาปี อำเภอสระใคร อำเภอกู่แก้ว อำเภอประจักษ์ศิลปาคม อำเภอนาตาล อำเภอนาเยีย อำเภอน้ำขุ่น อำเภอสว่างวีระวงศ์ และอำเภอเหล่าเสือโก้ก พ.ศ. 2550 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 124 ตอนที่ 46 ก หน้า 14

พระราชกฤษฎีกานี้มีผลให้กิ่งอำเภอทั้ง 81 แห่งดังกล่าวยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอทั้งหมด ขณะนี้ประเทศไทยจึงไม่มีเขตการปกครองในระดับกิ่งอำเภอ

อ้างอิง แก้

  1. "พระราชกฤษฎีกาตั้งอำเภอ ... พ.ศ. 2550" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2007-09-30. สืบค้นเมื่อ 2010-07-29.