กาโปเอย์รา (โปรตุเกส: capoeira) เป็นศิลปะป้องกันตัวแขนงหนึ่ง มีต้นกำเนิดจากประเทศบราซิล เกิดจากการผสมผสานระหว่างการต่อสู้ การเต้น ดนตรี กายกรรม ปรัชญา กาโปเอย์ราเกิดโดยทาสชาวแอฟริกาในบราซิล เริ่มในช่วงประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 15 ซึ่งมีข้อถกเถียงกันว่า กาโปเอย์รานั้นอาจเกิดขึ้นครั้งแรกในแอฟริกา

วงกาโปเอย์รา *
  มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมโดยยูเนสโก
วงกาโปเอย์ราในรัฐอาลาโกวัช ค.ศ. 2000
ประเทศ บราซิล
ภูมิภาค **ลาตินอเมริกาและแคริบเบียน
สาขาธรรมเนียมและการแสดงออกทางมุขปาฐะ, ศิลปะการแสดง, แนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม และงานเทศกาล, ความรู้และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล, งานช่างฝีมือดั้งเดิม
เกณฑ์พิจารณาR.1, R.2, R.3, R.4, R.5
อ้างอิง00892
ประวัติการขึ้นทะเบียน
ขึ้นทะเบียน2014 (คณะกรรมการสมัยที่ 9)
รายการตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ
* ชื่อตามที่ได้ขึ้นทะเบียนในบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมและการสงวนรักษาที่ดี
** ภูมิภาคที่จัดแบ่งโดยยูเนสโก

กาโปเอย์ราจะมี 2 รูปแบบคือ การฝึกแบบดั้งเดิมหรือแบบอังกอลา (Capoeira Angola) ที่ใช้เวลาฝึกยาวนานและท่วงท่าเชื่องช้ากว่าแบบเรฌีโยนัล (Capoeira Regional) ที่มีการเคลื่อนไหวรวดเร็วกว่า และใช้เวลาสั้นกว่าในการปฏิบัติ

ประวัติ แก้

 
Negros fighting, Brazil ค.ศ. 1824 วาดโดย Augustus Earle แสดงให้เห็นถึงการแอบฝึกกาโปเอย์ราในรีโอเดจาเนโร

ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16–19 โปรตุเกสได้ส่งทาสจากแอฟริกาตะวันตกมายังอเมริกาใต้ ชาวแอฟริกันจำนวนมากถูกนำตัวมายังประเทศบราซิล (ประมาณ 4 ล้านคน) ทาสเหล่านี้ได้นำวัฒนธรรมพวกเขามาด้วย เหล่าทาสได้ถูกแบ่งออกไปเป็นกลุ่ม ๆ เพื่อที่แยกย้ายกันไปทำงานในที่ต่าง ๆ ในทาสกลุ่มนี้จะมีคนจากหลายพื้นที่และต่างวัฒนธรรมมารวมกัน หลังจากที่ทาสเหล่านี้อยู่ด้วยกันต่างก็แลกเปลี่ยนและซึมซับวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน

ในกลุ่มชุมชนเล็ก ๆ นี้ กาโปเอย์ราได้เริ่มก่อตัวและพัฒนาเพื่อใช้ในการต่อสู้และป้องกันตัวจากทหารชาวโปรตุเกส และเริ่มมีการสอนกาโปเอย์ราให้กับคนอื่น ๆ โดยที่จะฝึกหัดกันในวันอาทิตย์ซึ่งเป็นวันหยุดพักของทาส แต่เนื่องจากทาสนั้นไม่ได้รับอนุญาตให้ฝึกศิลปะป้องกันตัว การฝึกจึงถูกแต่งเติมไปด้วยการเต้นและร้องเพลงซึ่งเป็นวัฒนธรรมของชาวแอฟริกาอยู่แล้ว เพื่อที่จะใช้บังหน้าจากการฝึกกาโปเอย์รา

ต่อมาหลังจากมีการเลิกทาส ในช่วง ค.ศ. 1888 ชาวแอฟริกาบางส่วนเดินทางกลับ แต่บางส่วนยังคงอาศัยอยู่ในบราซิล แต่เนื่องด้วยไม่มีงานทำมากนัก จึงทำให้หลายกลุ่มกลายเป็นอันธพาล พวกเขายังคงฝึกกาโปเอย์ราอยู่และกลายเป็นพวกต่อต้านรัฐบาลก่ออาชญากรรม เมื่อมีการนำกาโปเอย์ราไปใช้ในทางที่ผิด ทางรัฐบาลของบราซิลจึงมีคำสั่งให้กาโปเอย์รานั้นเป็นสิ่งผิดกฎหมาย (ช่วง ค.ศ. 1890) ผู้ฝ่าฝืนจะถูกจับ แต่ก็มีบางส่วนที่ขัดขืนก็จะถูกยิง โดยที่ตำรวจในสมัยนั้นก็ฝึกฝนกาโปเอย์ราด้วยเช่นกัน เพื่อที่จะใช้ต่อสู้กับผู้ฝ่าฝืนได้

จนกระทั่งถึงช่วงที่บราซิลทำสงครามกับปารากวัย รัฐบาลบราซิลได้จัดตั้งกลุ่มนักรบขึ้นมากลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นนักสู้กาโปเอย์รา โดยเรียกว่า "กองทหารดำ" (Black Military) จะส่งไปรบกับปารากวัย โดยสามารถนำชัยชนะมาให้กับบราซิลได้ นั่นทำให้เหล่านักสู้กาโปเอย์ราได้รับการยกย่องอีกครั้ง

มานูแอล ดุส เรย์ส มาชาดู (อาจารย์บิงบา) และวีเซ็งชี เฟเรย์รา ปัสชิญญา บิดาแห่งกาโปเอย์รายุคใหม่ โดยมาชาดูได้ก่อตั้งโรงเรียนสอนกาโปเอย์ราแห่งแรก (ใน ค.ศ. 1942) ขึ้นมา นี่เป็นก้าวสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า กาโปเอย์ราเป็นศิลปะการต่อสู้ที่ถูกกฎหมาย และได้ทำให้กาโปเอย์รากลับมาสู่ความนิยมอีกครั้ง

ลักษณะการเล่น แก้

 
Mestre Bimba group, 2022

การเล่นกาโปเอย์ราเริ่มจากการยืนกันเป็นวงกลม ซึ่งเรียกว่า "รอดา" (roda) โดยที่มีเครื่องดนตรีอยู่ตรงหัววง การเล่นจะเริ่มต้นโดยที่ผู้ที่เล่นเบริงเบา (berimbau) เริ่มเล่นและหลังจากนั้นเครื่องดนตรีอื่น ๆ ก็จะเล่นตามมา เมื่อผู้เล่นเบริงเบาส่งสัญญาณว่าให้เริ่มเล่นได้ ผู้เล่น 2 คนก็จะเดินมาหยุดตรงหน้าของผู้เล่นเบริงเบา จับมือกัน และเริ่มต้นเล่น โดยในขณะเดียวกันคนอื่น ๆ รอบ ๆ วงก็จะตบมือพร้อมทั้งร้องเพลง โดยมีผู้เล่นเบริงเบาเป็นผู้นำ เมื่อคู่ที่เล่นอยู่ต้องการที่จะหยุดก็จะทำการจับมือกัน เพื่อเป็นสัญญาณว่ายุติการเล่นของคู่นั้น ๆ แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าเกิดคนใดคนหนึ่งรอบ ๆ วงมีความต้องการจะเล่นกับคนใดคนหนึ่งในคู่ที่กำลังเล่นอยู่ก็สามารถทำได้ ซึ่งเราเรียกว่า การซื้อเกม โดยคนๆ นั้น จะหาจังหวะเข้าไปแทรกกลางระหว่างคู่ที่กำลังเล่นอยู่ โดยผู้ที่แทรกนั้นหันหน้าไปทางผู้ใดก็คือ ต้องการที่จะเล่นกับคน ๆ นั้น ในการเล่นนั้นจะไม่มีการปะทะหรือกระทบกระทั่งกันรุนแรงนัก เพื่อมิให้เกิดอันตรายและการบาดเจ็บแต่ตัวผู้เล่น

ดนตรี แก้

 
เครื่องดนตรีการเล่นกาโปเอย์รา ในภาพคือเบริงเบาและปังเดย์รู‎

กาโปเอย์ราเป็นศิลปะที่มีการเล่นดนตรี เพิ่มจังหวะให้กับการเล่น เครื่องดนตรีคือ

  • เบริงเบา
  • ปังเดย์รู (pandeiro)
  • อาตาบากี (atabaque)
  • อาโกโก (agogô)

การเล่น แก้

กาโปเอย์ราไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บ แต่จะเน้นที่ฝีมือและทักษะของผู้เล่น

ฌิงกา แก้

 
ฌิงกา

ฌิงกา (ginga) เป็นท่าพื้นฐานของกาโปเอย์รา ถ้าเปรียบเทียบกับศิลปะการต่อสู้ชนิดอื่น ๆ ก็คือการเต้นฟุตเวิร์ก โดยพยายามก้าวขาประมาณความกว้างของอก และก้าวเท้าหนึ่งไปข้างหลังและกลับมาที่เดิม เป็นลักษณะสามเหลี่ยมบนพื้น การเคลื่อนไหวแบบนี้จะทำให้ส่วนของร่างกายพร้อมไปกับการเคลื่อนไหวส่วนอื่น

การจู่โจม แก้

โดยพื้นฐาน กาโปเอย์ราจะจู่โจมโดยการเตะ การปัด การใช้หัวโขก บางครั้งจะเห็นการใช้มือบ้าง แต่ไม่บ่อยส่วนใหญ่จะใช้ข้อศอกแทน การใช้เข่าเห็นบ้าง บางครั้งกาโปเอย์ราใช้ความผาดโผนและการเคลื่อนไหวที่แข็งแรง ที่ใช้เป็นกลยุทธ์ต่อคู่แข่งขันการตีลังกาหรือ "อาอู" (), หกสูงหรือ "บานาเนย์รา" (bananeira), หมุนตัวบนศีรษะหรือ "ปีเยาจีกาเบซา" (pião de cabeça), หมุนตัวบนมือหรือ "ปีเยาจีเมา" (pião de mão), สปริงมือหรือ "กาตู" (gato), sitting movements, การหมุน, การกระโดด, การดีด ทั้งหมดล้วนเป็นท่าพื้นฐานของกาโปเอย์ราขึ้นอยู่กับความสามารถและจังหวะ

การป้องกัน แก้

การป้องกันประกอบด้วยการหลบและการหมุน ขึ้นอยู่กับทิศทางและจุดประสงค์ของการป้องกัน การป้องกันอย่างง่ายคือการหมุน โดยรวมการหลบและการเคลื่อนตัวช้า และสามารถเคลื่อนย้ายตัวเองมาจู่โจมการหลบอย่างอื่น เช่น รัสเตย์รา (rasteira), วิงกาชีวา (vingativa), เตโซราจีเมา (tesoura de mão) หรือแกดา (queda) จะทำให้เคลื่อนและเข้าใกล้หาจุดโหว่ของคู่ต่อสู้ได้

จู่โจมและป้องกัน แก้

 
อาอูบาชีดู

มีบางท่าอย่าง "อาอูบาชีดู" (aú batido) ที่เป็นการจู่โจมและป้องกันพร้อมกัน โดยเริ่มจากการตีลังกาหนี จากนั้นใช้ขาเตะออกไปพร้อมกัน การเตะ 2 ครั้งเรียก "เมย์ยาลูอาจีเฟร็งชี" (meia lua de frente) ส่วน "อาร์มาดา" (armada) คือการหมุน 2 ครั้งแล้วเตะ

ชามาดา แก้

ชามาดา (chamada) แปลว่า "การเรียก" เป็นส่วนหนึ่งที่เกิดในกาโปเอย์ราแบบอังกอลา เป็นการหยุดเมื่อรู้สึกถึงอันตราย

วอลตาเอามุงดู แก้

วอลตาเอามุงดู (volta ao mundo) แปลว่า "การเที่ยวรอบโลก" เกิดขึ้นเมื่อการเปลี่ยนการเคลื่อนไหวได้จบลงหรือหลังจากเกิดการหยุดชะงักในเกม ผู้เล่นจะเดินเป็นวงกลมรอบวง และผู้เล่นอีกคนจะร่วมเดินรอบวงด้วย จึงจะกลับสู่เกมปกติ

กาโปเอย์ราในวัฒนธรรมร่วมสมัย แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้