กาลโยค จุลศักราช 1386
ใช้ระหว่างวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2567
ถึง 15 เมษายน พ.ศ. 2568
กาลโยค ธงชัย อธิบดี อุบาทว์ โลกาวินาศ
วัน 3 5 2 7
ยาม 7 6 6 2
ฤกษ์ 12 12 11 22
ราศี 3 6 2 10
ดิถี 3 30 2 16


กาลโยค หมายถึง การกำหนดว่ากาลใดดี กาลใดร้ายเพื่อการใช้ประโยชน์จากกาล (เวลา) กาลโยคมาจากคำว่า กาล (เวลา) และโยคะ (การประกอบ,การใช้งาน,การร่วมกัน) ในปฏิทินไทย กาลโยคคือตารางที่บ่งบอกให้ทราบว่าช่วงเวลาใดดี ช่วงเวลาใดร้าย เพื่อประกอบการพิจารณาหาฤกษ์กระทำการมงคล เช่น เปิดห้างร้าน หว่านข้าวลงในนา สถาปนายศศักดิ์ ฯลฯ กาลโยคแบ่งได้เป็นสี่ส่วนคือ ธงชัย และอธิบดี มีหมายความทางดี ซึ่งตรงกันข้ามกับอุบาทว์ และโลกาวินาศ ซึ่งมีความหมายทางร้าย และสี่ส่วนเหล่านี้จะนำไปประกอบกับช่วงเวลา 5 ช่วง ได้แก่ วัน ยาม ฤกษ์ ราศี ดิถี เพื่อใช้พิจารณาต่อไป

กาลโยคคืออะไร แก้

กาลโยค ในปฏิทินนิยมเขียนเป็นตารางขนาดสี่คูณห้า แต่ละช่องจะบรรจุตัวเลขแทนช่วงเวลาที่กำหนดว่าดีหรือร้าย ยกตัวอย่างเช่น หากวันดีวันร้ายในปีนั้นกำหนดไว้ว่า

วันจันทร์ ธงชัย วันพุธ อธิบดี วันอังคาร อุบาทว์ วันเสาร์ โลกาวินาศ

ก็จะสามารถเขียนอย่างย่อ ๆ ลงเป็นตาราง ดังตาราง

ธงชัย อธิบดี อุบาทว์ โลกาวินาศ
วัน 2 4 3 7

โดยที่ตัวเลข 1 2 3 ,..., 7 แทนวันอาทิตย์ วันจันทร์ วันอังคาร ไปจนถึงวันเสาร์ สำหรับการกำหนดเวลาในลักษณะอื่นเช่น ยาม ฤกษ์ ราศี ดิถี ก็สามารถทำได้ในทำนองเดียวกัน

  • วันธงชัย เป็นวันดี ทำการใดสำเร็จได้ผลดี มีชัยชนะ มิ่งขวัญ ของหมู่คณะ ชัยชนะ (มักใช้กับสิ่งของ วัตถุ สถานที่)
  • วันอธิบดี เป็นวันดี ให้คุณเรื่องอำนาจ บารมี เป็นใหญ่ มีอำนาจในการปกครอง ควบคุมดูแล เวลาประกอบด้วยโชค ความเป็นใหญ่ มักใช้กับบุคคล
  • วันอุบาทว์/อุบาสนตามตำราปัจจุบัน เป็นวันไม่ดี ไม่เป็นมงคล ตกอยู่ในบ่วงกรรมอุปสรรค ทำการค้าไม่ขึ้น โชคร้าย อุบัติเหตุ เคราะห์ไม่ดี สิ่งที่ไม่เป็นมงคล (ใช้กับบุคคล)

อุบาทว์ ตามตำราเดิมสมัยรัชกาลที่ 4 หรือปฏิทินปูมโหรเก่า ๆ จะใช้คำว่า "อุบาสน" แปลว่าเข้าใกล้ , รัชกาลที่ 5 ทรงพระราชหัถตเลขา (พ.ศ. 2417) ถึงกรมพระอาลักษณ์ เกี่ยวกับพระราชดำริรัชกาลที่ 4 เรื่องวันอุบาสน มีสรุปความตอนหนึ่งว่า "แต่นี้สืบไป อย่าให้ผู้ใดเขียนว่าวันอุบาท ทูลเกล้าฯถวายเป็นอันขาด ให้เขียนว่า วันอุบาสน คือแปลว่าเข้าใกล้ จะได้สมกันกับที่อยู่ใกล้วันธงไชย" ดังนั้น "อุบาสน" ไม่ได้มีความหมายแรงตามที่ใช้ในปัจจุบัน วันที่ไม่ดีตามกาลโยกตำราเดิมคือวัน "โลกาวินาสน์" เท่านั้น อ่านต่อ

  • วันโลกาวินาศ หรือ วันขลุบ เป็นวันไม่ดี ไม่เป็นมงคล วุ่นวาย ยุ่งยาก ติดขัด ระส่ำระสาย ความหายนะ สูญเสีย เข้าไปสู่อันตราย ไม่เป็นมงคลต่อหมู่คณะเป็นส่วนรวม (ใช้กับสิ่งของ วัตถุ สถานที่)

การคำนวณกาลโยค แก้

การคำนวณกาลโยค ทำได้ง่ายมาก นั่นคือ มีเพียงจุลศักราช นำมาบวกลบคูณหารตามตำราได้เป็นเกณฑ์ แล้วนำไปหารจำนวนช่วงในช่วงเวลาที่ต้องการหา

ถ้าจะหาธงชัย ให้ตั้งจุลศักราชของปีที่จะหาลง เอา 10 คูณ ได้เท่าใดเอา 3 บวก ลัพธ์เป็นเกณฑ์ แล้วตั้งเกณฑ์ลง 5 ฐาน คือ วัน ยาม ฤกษ์ ราศี ดิถี

  • ฐานวันเอา 7 หาร เศษเท่าใดเป็นวันธงชัย
  • ฐานยามเอา 8 หาร เศษเท่าใดเป็นยามธงชัย
  • ฐานฤกษ์เอา 27 หาร เศษเท่าใดเป็นฤกษ์ธงชัย
  • ฐานราศีเอา 12 หาร เศษเท่าใดเป็นราศีธงชัย
  • ฐานดิถีเอา 30 หาร เศษเท่าใดเป็นดิถีธงชัย

ถ้าจะหาอธิบดี ให้ตั้งจุลศักราชของปีที่จะหาลง เอา 498 หาร เศษเท่าใดตั้งลงเป็น 5 ฐาน

  • ฐานวันเอา 7 หาร เศษเท่าใดเป็นวันอธิบดี
  • ฐานยามเอา 8 หาร เศษเท่าใดเป็นยามอธิบดี
  • ฐานฤกษ์เอา 27 หาร เศษเท่าใดเป็นฤกษ์อธิบดี
  • ฐานราศีเอา 12 หาร เศษเท่าใดเป็นราศีอธิบดี
  • ฐานดิถีเอา 30 หาร เศษเท่าใดเป็นดิถีอธิบดี

ถ้าจะหาอุบาทว์ ให้ตั้งจุลศักราชของปีที่จะหาลง เอา 10 คูณ ได้เท่าใดเอา 2 บวก ลัพธ์เป็นเกณฑ์ แล้วตั้งเกณฑ์ลงเป็น 5 ฐาน

  • ฐานวันเอา 7 หาร เศษเท่าใดเป็นวันอุบาทว์
  • ฐานยามเอา 8 หาร เศษเท่าใดเป็นยามอุบาทว์
  • ฐานฤกษ์เอา 27 หาร เศษเท่าใดเป็นฤกษ์อุบาทว์
  • ฐานราศีเอา 12 หาร เศษเท่าใดเป็นราศีอุบาทว์
  • ฐานดิถีเอา 30 หาร เศษเท่าใดเป็นดิถีอุบาทว์

ถ้าจะหาโลกาวินาศ ให้ตั้งจุลศักราชของปีที่จะหาลง เอา 1120 บวก ลัพธ์เท่าใดตั้งเป็น 5 ฐาน

  • ฐานวันเอา 7 หาร เศษเท่าใดเป็นวันโลกาวินาศ
  • ฐานยามเอา 8 หาร เศษเท่าใดเป็นยามโลกาวินาศ
  • ฐานฤกษ์เอา 27 หาร เศษเท่าใดเป็นฤกษ์โลกาวินาศ
  • ฐานราศีเอา 12 หาร เศษเท่าใดเป็นราศีโลกาวินาศ
  • ฐานดิถีเอา 30 หาร เศษเท่าใดเป็นดิถีโลกาวินาศ

ถ้าหารแล้วเศษเป็น 0 (หารได้ลงตัว) ก็ให้ยึดจำนวนที่เป็นตัวหารเป็นหลัก ตัวอย่างเช่น ถ้าหารเกณฑ์ธงชัยของวันได้ลงตัว ก็ถือว่าวันธงชัยเป็น 7 ยกเว้น ราศี ให้คงเป็น 0 เพราะในทางโหราศาสตร์ไทย ราศีที่ 12 ตรงกับราศีที่ 0 พอดี คือราศีเมษ

ตารางการคำนวณกาลโยค
ธงชัย อธิบดี อุบาทว์ โลกาวินาศ
วัน (จ.ศ.*10+3)%7 (จ.ศ.%498)%7 (จ.ศ.*10+2)%7 (จ.ศ.+1120)%7
ยาม (จ.ศ.*10+3)%8 (จ.ศ.%498)%8 (จ.ศ.*10+2)%8 (จ.ศ.+1120)%8
ฤกษ์ (จ.ศ.*10+3)%27 (จ.ศ.%498)%27 (จ.ศ.*10+2)%27 (จ.ศ.+1120)%27
ราศี (จ.ศ.*10+3)%12 (จ.ศ.%498)%12 (จ.ศ.*10+2)%12 (จ.ศ.+1120)%12
ดิถี (จ.ศ.*10+3)%30 (จ.ศ.%498)%30 (จ.ศ.*10+2)%30 (จ.ศ.+1120)%30

ตัวอย่างการคำนวณ แก้

พุทธศักราช 2550 คิดเป็นจุลศักราช 1369 (เอา พ.ศ. ลบ 1181 ได้ จ.ศ. หรือเอา ค.ศ ลบ 638 ได้ จ.ศ. เช่นกัน)

  • หาเกณฑ์ธงชัย เอา (1369 × 10) + 3 = 13693 ลัพธ์เป็นเกณฑ์
  • เอาเกณฑ์ธงชัยตั้งลงเป็น 5 ฐาน คือฐานวัน ฐานยาม ฐานฤกษ์ ฐานราศี ฐานดิถี
    • ฐานวัน 13693 ÷ 7 = 1956 เศษ 1 (จึงถือว่า 1 เป็นวันธงชัย)
    • ฐานยาม 13693 ÷ 8 = 1711 เศษ 6 (จึงถือว่า 6 เป็นยามธงชัย)
    • ฐานฤกษ์ 13693 ÷ 27 = 507 เศษ 4 (จึงถือว่า 4 เป็นฤกษ์ธงชัย)
    • ฐานราศี 13693 ÷ 12 = 1141 เศษ 1 (จึงถือว่า 1 เป็นราศีธงชัย)
    • ฐานดิถี 13693 ÷ 30 = 456 เศษ 13 (จึงถือว่า 13 เป็นดิถีธงชัย)
  • หาเกณฑ์อธิบดี เอา 1369 ÷ 498 = 2 เศษ 373 เศษเป็นเกณฑ์
  • เอาเกณฑ์อธิบดีตั้งลงเป็น 5 ฐาน
    • ฐานวัน 373 ÷ 7 = 53 เศษ 2 (จึงถือว่า 2 เป็นวันอธิบดี)
    • ฐานยาม 373 ÷ 8 = 46 เศษ 5 (จึงถือว่า 5 เป็นยามอธิบดี)
    • ฐานฤกษ์ 373 ÷ 27 = 13 เศษ 22 (จึงถือว่า 22 เป็นฤกษ์อธิบดี)
    • ฐานราศี 373 ÷ 12 = 31 เศษ 1 (จึงถือว่า 1 เป็นราศีอธิบดี)
    • ฐานดิถี 373 ÷ 30 = 12 เศษ 13 (จึงถือว่า 13 เป็นดิถีอธิบดี)
  • หาเกณฑ์อุบาทว์ เอา (1369 × 10) + 2 = 13692 ลัพธ์เป็นเกณฑ์
  • เอาเกณฑ์อุบาทว์ตั้งลงเป็น 5 ฐาน
    • ฐานวัน 13692 ÷ 7 = 1956 เศษ 0 (หารลงตัว จึงถือว่า 7 เป็นวันอุบาทว์) *
    • ฐานยาม 13692 ÷ 8 = 1711 เศษ 4 (จึงถือว่า 4 เป็นยามอุบาทว์)
    • ฐานฤกษ์ 13692 ÷ 27 = 507 เศษ 3 (จึงถือว่า 3 เป็นฤกษ์อุบาทว์)
    • ฐานราศี 13692 ÷ 12 = 1141 เศษ 0 (หารลงตัว จึงถือว่า 0 เป็นราศีอุบาทว์) *
    • ฐานดิถี 13692 ÷ 30 = 456 เศษ 12 (หารลงตัว จึงถือว่า 12 เป็นดิถีอุบาทว์)
  • หาเกณฑ์โลกาวินาศ เอา 1369 + 1120 = 2489
  • เอาเกณฑ์โลกาวินาศตั้งลงเป็น 5 ฐาน
    • ฐานวัน 2489 ÷ 7 = 355 เศษ 4 (จึงถือว่า 4 เป็นวันโลกาวินาศ)
    • ฐานยาม 2489 ÷ 8 = 311 เศษ 1 (จึงถือว่า 1 เป็นยามโลกาวินาศ)
    • ฐานฤกษ์ 2489 ÷ 27 = 92 เศษ 5 (จึงถือว่า 5 เป็นฤกษ์โลกาวินาศ)
    • ฐานราศี 2489 ÷ 12 = 207 เศษ 5 (จึงถือว่า 5 เป็นราศีโลกาวินาศ)
    • ฐานดิถี 2489 ÷ 30 = 82 เศษ 29 (จึงถือว่า 29 เป็นดิถีโลกาวินาศ)
    • -พึงสังเกตจุดนี้ให้ดี

เมื่อนำมาเขียนเป็นตารางจะได้ดังนี้

ธงชัย อธิบดี อุบาทว์ โลกาวินาศ
วัน 1 2 7 4
ยาม 5 5 4 1
ฤกษ์ 4 22 3 5
ราศี 1 1 0 5
ดิถี 13 13 12 29

การอ่านกาลโยค แก้

กาลโยค สามารถอ่านได้โดยการดูตัวเลขที่เขียนไว้ในตาราง แล้วตีเป็นความหมาย เช่น วันธงชัยเป็น 1 หมายความว่า วันอาทิตย์เป็นวันธงชัย วันโลกาวินาศเป็น 4 ก็หมายความว่า วันพุธเป็นวันโลกาวินาศ เป็นต้น โดยตัวเลขที่เขียนไว้ในช่องวัน คือตัวเลขที่นับ 1 จากวันอาทิตย์ เพิ่มทีละหนึ่งไปจนถึง 7 คือวันเสาร์

ส่วนยามนั้น 1 ยาม มีค่าเท่ากับ 1 ชั่วโมง 30 นาที (ไม่ใช่ 3 ชั่วโมงอย่างที่เข้าใจกัน) เริ่มนับตั้งแต่รุ่งเช้า (6:00 น.) ไปจนถึงย่ำค่ำ (18:00 น.) แล้วนับหนึ่งใหม่ตอนย่ำค่ำไปจนถึงรุ่งเช้า จะได้ภาคละ 8 ยามพอดี ถ้าสมมุติว่า ยามธงชัยคือยามที่ 5 ก็ให้นับจาก 6:00 น. (หรือ 18:00 น.) ไปเรื่อย ๆ เมื่อครบ 1 ชั่วโมง 30 นาที ก็นับเป็นยามสอง... ในที่สุดเราก็จะได้ว่า ยามธงชัยอยู่ในเวลา 12:00 น. - 13:30 น. (หรือ 00:00 น. - 01:30 น.)

สำหรับราศี ทางโหราศาสตร์ไทยให้ถือว่า ราศี 0 คือราศีเมษ ให้นับแต่ราศีเมษทีละ 1 ไปจนถึง 11 คือราศีมีน สมมุติว่า ราศี 1 เป็นธงชัย ก็แปลความหมายได้ว่า ราศีพฤษภ เป็นราศีธงชัย

ส่วนดิถีนั้น ให้นับ ขึ้น 1 ค่ำ เป็นดิถีที่ 1 ไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึง ขึ้น 15 ค่ำ นับเป็นดิถีที่ 15 จากนั้นนับแรม 1 ค่ำ ต่อ เป็นดิถีที่ 16 จนถึง แรม 15 ค่ำ ก็เป็นดิถีที่ 30 (ดูเพิ่มเติมที่ ดิถี) สมมุติว่า ดิถีที่ 13 เป็นดิถีธงชัย ก็แปลความหมายว่า วันขึ้น 13 ค่ำ เป็นวันธงชัยทางจันทรคติ หรือถ้าสมมุติว่า ดิถีที่ 29 เป็นดิถีโลกาวินาศ ก็แปลความหมายได้ว่า วันแรม 14 ค่ำ เป็นวันโลกาวินาศทางจันทรคติ

อย่างไรก็ดี ส่วนมากเรามักพิจารณาเพียงวันเท่านั้น เพราะถ้าพิจารณาจุดอื่นก็จะยิ่งยุ่งยากมากขึ้น

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  • ทองเจือ อ่างแก้ว. ปฏิทินโหราศาสตร์ไทย พ.ศ. 2554 - 2563. กรุงเทพฯ: เกษมบรรณกิจ, 2554. (มีกาลโยคของทุกปี)
  • ทองย้อย แสงสินชัย. พฤศจิกายน 2547. "การอ่านกาลโยค." นาวิกศาสตร์. เข้าถึงได้จาก http://www.navy.mi.th/navic/document/881009a.html (วันที่ค้นข้อมูล : 20 มีนาคม 2550)
  • สิงห์โต สุริยาอารักษ์. เรื่องฤกษ์และการให้ฤกษ์ ดวงพิชัยสงคราม. กรุงเทพฯ:เกษมบรรณกิจ, ม.ป.ป. (ดูส่วน ฤกษ์และการให้ฤกษ์ (ส่วนต้นของหนังสือ))
  • อุระคินทร์ วิริยะบูรณะ และคณะ.พรหมชาติ ฉบับหลวง. กรุงเทพฯ:สำนักงาน ลูก ส.ธรรมภักดี, ม.ป.ป.
  • บทความ 'คัมภีร์กาลโยค' โดยมหาหมอดูดอตคอม (วันที่ค้นข้อมูล : 20 มีนาคม 2550)