การไทเทรต (อังกฤษ: titration) คือ วิธีการทางปริมาณวิเคราะห์ (Quantitative Analysis) ใช้ในการหาปริมาตรของสารละลายมาตรฐาน (สารละลายที่เราทราบความเข้มข้นที่แน่นอนแล้ว) ที่ทำปฏิกิริยาพอดีกับสารละลายอื่นซึ่งทราบปริมาตร แต่ยังไม่ทราบความเข้มข้น เพื่อนำค่าปริมาตรที่ได้มาคำนวณหาความเข้มข้นของสารละลายอื่นนั้น

ลักษณะการไทเทรต
การเขย่าขวดรูปชมพู่เป็นวงกลมขณะไทเทรต

สำหรับการไทเทรตทุกชนิด จุดที่สารที่เรานำมาไทเทรตทำปฏิกิริยากันพอดี เราเรียกว่า จุดสมมูลหรือจุดสะเทิน (Equivalence Point)จุดที่กรดทำปฏิกิริยากันพอดีหรือสะเทินพอดีกับเบส ส่วนจุดที่อินดิเคเตอร์ (Indicator) เปลี่ยนสี เราเรียกว่า จุดยุติ (End Point) ซึ่งเป็นจุดที่เราจะยุติการไทเทรต โดยถ้าเราใช้อินดิเคเตอร์ที่เหมาะสมจะทำให้จุดยุติตรงกับจุดสมมูลหรือใกล้เคียงกับจุดสมมูลมาก แต่ถ้าเราใช้อินดิเคเตอร์ไม่เหมาะสมอาจจะทำให้จุดยุติอยู่ห่างจากจุดสมมูลมาก ทำให้ผลการทดลองคลาดเคลื่อนได้

ประเภทของการไทเทรต แก้

  1. การไทเทรตกรด-เบส (Acid-Base Titration) โดยมีสารที่ทำปฏิกิริยากันในการไทเทรตเป็นกรดกับเบส โดยอินดิเคเตอร์ที่ใช้จะเป็นอินดิเคเตอร์วัดค่า pH ทั่ว ๆ ไป
  2. การไทเทรตปฏิกิริยารีดอกซ์ (Redox Titration) โดยสารที่ใช้จะเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่น-รีดักชั่น โดยส่วนใหญ่จะไม่ต้องใช้อินดิเคเตอร์เพราะเมื่อเกิดปฏิกิริยาสารละลายจะเปลี่ยนสีได้เอง
  3. การไทเทรตปฏิกิริยาการเกิดสารเชิงซ้อน (Complexometric Titration) โดยระหว่างปฏิกิริยาจะเกิดสารประกอบเชิงซ้อน (Complex Compound, Coordination Compound) ขึ้น สารที่ใช้ในการไทเทรตมักจะเป็น EDTA โดยอินดิเคเตอร์ที่ใช้ เช่น Eriochrome Black T เป็นต้น

การไทเทรตกรด-เบส แก้

การไทเทรตกรด-เบส เป็นการไทเทรตระหว่างสารละลายกรดกับเบส ใช้ในการหาปริมาณหรือความเข้มข้นที่แน่นอนของกรดหรือเบส ทำได้โดยนำสารตัวอย่างมาไทเทรตกับกรดหรือเบสที่ทราบความเข้มข้นที่แน่นอน แล้วสังเกตสีของอินดิเคเตอร์ที่เปลี่ยนไปเมื่อปฏิกิริยาเกิดจนถึงจุดสมมูล ขณะไทเทรต pH ถ้าเลือกใช้อินดิเคเตอร์ที่เหมาะสมจะบอกจุดยุติที่ใกล้เคียงกับจุดสมมูลได้ การไทเทรตกรด-เบส สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 แบบ ซึ่งการไทเทรตแต่ละแบบให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้

  1. การไทเทรตระหว่างกรดแก่กับเบสแก่
  2. การไทเทรตระหว่างเบสอ่อนกับกรดแก่
  3. การไทเทรตระหว่างกรดอ่อนกับเบสแก่
  4. การไทเทรตระหว่างกรดอ่อนกับเบสอ่อน

อ้างอิง แก้