การเลือกตั้งทางอ้อม

การเลือกตั้งทางอ้อม (indirect election) หมายถึง การเลือกตั้งในสองระดับ กล่าวคือ ประชาชนผู้มีสิทธิการเลือกตั้งเลือกตัวแทนหรือคณะบุคคล จากนั้นตัวแทนหรือคณะบุคคลที่ได้รับการเลือกตั้งจะไปดำเนินการเลือกผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้นๆ ต่อไป ลักษณะเช่นนี้จึงกล่าวได้ว่าการเลือกตั้งทางอ้อมเป็นรูปแบบที่ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ได้ลงคะแนนเลือกผู้สมัครให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้นได้โดยตรง แต่เป็นการมอบหมายสิทธิในการตัดสินใจให้กับตัวแทนหรือคณะบุคคลให้ทำหน้าที่แทน วัตถุประสงค์สำคัญของการเลือกตั้งทางอ้อม คือ การให้บุคคลหรือคณะบุคคลที่มีความเหมาะสมในการใช้วิจารณญาณ ทำการตัดสินใจแทนผู้ออกเสียงลงคะแนนในการเลือกผู้ที่มีความรู้ความสามารถในการทำหน้าที่ตามตำแหน่งทางการเมืองนั้น ๆ

ตัวอย่าง การเลือกตั้งทางอ้อม ได้แก่ การเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ที่ใช้ระบบ คณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College) ซึ่งหมายถึง ผู้แทนราษฎรของแต่ละรัฐที่จะเป็นผู้เลือกตั้งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีแทนราษฎรในรัฐของตน ในอดีตพวกกลุ่มผู้แทนเหล่านี้ถือว่าเป็นชนชั้นนำและเป็นผู้มีโอกาสตัดสินใจในการเลือกตั้งอย่างแท้จริง แต่ในปัจจุบันพวกผู้แทนกลุ่มนี้ต้องทำตามนโยบายของพรรคของตน ถ้าพรรคของตนสนับสนุนใครก็ต้องเลือกคนนั้น จำนวนผู้แทนของรัฐใดจะมีผู้แทนเท่าใดถือเอาจำนวนของผู้แทนของรัฐนั้นในวุฒิสภา (the Senate)และสภาผู้แทนราษฎร(the House of Representatives) ร่วมกัน

นอกจากนี้แล้ว ยังพบรูปแบบการได้มาซึ่งผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญ ๆ โดยวิธีการเลือกตั้งทางอ้อม ได้แก่ ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในระบบรัฐสภา ที่ประชาชนไม่ได้เป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรีได้โดยตรง แต่อาศัยการลงมติของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ประชาชนในแต่ละเขตหรือตามบัญชีรายชื่อได้เลือกไปแล้ว ให้ทำหน้าที่ในการลงมติเลือกบุคคลที่เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งโดยทั่วไปมักเป็นผู้นำพรรคเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร เป็นต้น

การเลือกตั้งทางอ้อมในประเทศไทย แก้

ประเทศไทย ได้มีการใช้รูปแบบการเลือกตั้งทางอ้อมครั้งเดียวเท่านั้น ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก ที่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ซึ่งกำหนดให้รัฐสภาไทยเป็นระบบสภาเดียว (Single Cameral) ประกอบด้วยสมาชิก 2 ประเภท คือ ประเภทที่หนึ่งมาจากการเลือกตั้ง มีจำนวน 78 คน และสมาชิกประเภทที่สองมาจากการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตรีย์ จำนวน 78 คน สมาชิกทั้งสองประเภทอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปีเท่ากัน การเลือกตั้งจึงเลือกเฉพาะสมาชิกประเภทที่หนึ่งเท่านั้น โดยให้ประชาชนเลือกผู้แทนตำบล จากนั้นจึงเลือกผู้แทนจังหวัดตามลำดับ ซึ่งมีการกำหนดสัดส่วนประชากร 200,000 คน ต่อผู้แทนราษฎร 1 คน ถ้าจังหวัดใดมีเศษประชากรเกิน 100,000 คน ให้มีผู้แทนราษฎรได้อีก 1 คน

ดูเพิ่ม แก้

ที่มา แก้

  • จรูญ สุภาพ.สารานุกรมรัฐศาสตร์.กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช, 2531 หน้า 104.
  • พิชัย เข็มทอง.ระบบการเลือกตั้งกับการปรับเปลี่ยนระบบพรรคการเมือง : กรณีศึกษาการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเทศไทย.วิทยานิพนธ์รัฐศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2546 หน้า 21.
  • ธโสธร ตู้ทองคำ,หน่วยที่ 8 กระบวนการเลือกตั้ง ใน เอกสารการสอนชุดวิชา สถาบันและกระบวนการทางการเมืองไทย หน่วยที่ 1-8.สาขาวิชารัฐศาสตร์ : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช,2548 หน้า 542 . สถาบันพระปกเกล้า. การเลือกตั้งทางอ้อม ใน คำศัพท์รัฐสภาและการเมืองไทย Retrieved from [1] เก็บถาวร 2008-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (5 มกราคม 2552). Frank Bealey, “indirect election” .The Blackwell dictionary of political science : A user's guide to its terms. Malden, Mass.: Blackwell, 1999 p.163.