การเคหะแห่งชาติ (ประเทศไทย)

การเคหะแห่งชาติ (อังกฤษ: National Housing Authority) เป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2516

การเคหะแห่งชาติ
National Housing Authority
ภาพรวมหน่วยงาน
ก่อตั้ง12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2516 (51 ปี)
สำนักงานใหญ่905 ถนนนวมินทร์ แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร 10240
งบประมาณประจำปี351.8742 ล้านบาท (พ.ศ. 2559)[1]
ฝ่ายบริหารหน่วยงาน
  • พลเอก สุพจน์ มาลานิยม[2], ประธานกรรมการ
  • ทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ์, ผู้ว่าการ
  • นพดล ว่องเวียงจันทร์, รองผู้ว่าการ
  • วิญญา สิงห์อินทร์, รองผู้ว่าการ
  • สัญญา หวะสุวรรณ, รองผู้ว่าการ
  • ชัยรัตน์ ทองบริบูรณ์, รองผู้ว่าการ
  • ธนัญชัย โชติศรีลือชา, รองผู้ว่าการ
ต้นสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
เว็บไซต์http://www.nha.co.th

ประวัติ แก้

สืบเนื่องจากปัญหาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยในประเทศไทย ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลจึงได้จัดตั้งกองเคหสถาน กรมประชาสงเคราะห์ ขึ้นในปี พ.ศ. 2483 หลังจากเริ่มต้นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในปี พ.ศ. 2504 ปัญหาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยทวีความรุนแรงขึ้น รัฐบาลจึงได้จัดตั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยเพิ่มเติม ได้แก่ สำนักงานอาคารสงเคราะห์ กรมประชาสงเคราะห์ (ในปี พ.ศ. 2493) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ในปี พ.ศ. 2496) และสำนักงานปรับปรุงแหล่งเสื่อมโทรมเทศบาลนครกรุงเทพ (ปี พ.ศ. 2503) จนในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 3 จึงมีการกำหนดนโยบายให้จัดตั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านที่อยู่อาศัยขึ้น และได้จัดตั้ง “การเคหะแห่งชาติ” ขึ้นเมื่อ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2516 ภายใต้ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 316 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515[3] โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้

  1. จัดให้มีเคหะเพื่อประชาชน เช่า หรือเช่าซื้อ
  2. จัดหาเงินกู้มาสร้างที่อยู่อาศัยให้ประชาชนเช่าซื้อหรือให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินแก่บุคคลที่จะสร้างที่อยู่อาศัย
  3. ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารหรือจัดสรรที่ดิน

ต่อมาในวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2517 ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 316 ที่ให้อำนาจการเคหะแห่งชาติออกพันธบัตรหรือตราสารการลงทุนได้ [4]

ในวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2522 ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 316 ฉบับที่ 2 ที่ได้ให้อำนาจการเคหะแห่งชาติเวนคืนที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อดำเนินการปรับปรุงหรือรื้อถอนแหล่งเสื่อมโทรมได้ [5]

ในปี พ.ศ. 2535 ได้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 316 เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรและได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้และคณะกรรมาธิการได้นำเข้าสู่ที่ประชุมสภาในวาระที่ 2 และ 3 เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2536 แต่ที่ประชุมสภาไม่เห็นชอบร่างทำให้ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เป็นอันตกไป[6]

และต่อมาในปีพ.ศ. 2537 ได้มีการเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งใหม่ตามพระราชบัญญัติ การเคหะแห่งชาติ พ.ศ. 2537 [7] ดังนี้

  1. จัดให้มีเคหะเพื่อให้ประชาชนได้มีที่อยู่อาศัย
  2. ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประชาชนผู้ประสงค์จะมีเคหะของตนเอง หรือแก่บุคคลผู้ประสงค์ จะร่วมดำเนินกิจการกับ กคช.ในการจัดให้มีเคหะขึ้น เพื่อให้ประชาชนเช่า เช่าซื้อหรือซื้อ
  3. ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารหรือจัดหาที่ดิน
  4. ปรับปรุงรื้อหรือย้ายแหล่งเสื่อมโทรมเพื่อให้มีสภาพการอยู่อาศัยสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคมดีขึ้น
  5. ประกอบธุรกิจการอื่นที่สนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องกับวัตถุประสงค์ดังกล่าวข้างต้น

ผลการดำเนินงาน แก้

นับแต่ปี พ.ศ. 2516 ถึงปี พ.ศ. 2553 การเคหะแห่งชาติ ได้ดำเนินงานพัฒนาและจัดสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชนทุกระดับรายได้โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยได้ รวมทั้งสิ้นจำนวน 732,249 หน่วย

โครงการบ้านเอื้ออาทร แก้

เป็นโครงการเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัย และยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้ด้อยโอกาสให้ได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเป็นที่อยู่อาศัยที่ได้มาตรฐานและอยู่ในชุมชนที่มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม มีระดับราคาที่กลุ่มเป้าหมายสามารถรับภาระการผ่อนชำระได้ โดยกำหนดที่จะจัดทำที่อยู่อาศัยให้สำหรับกลุ่มป้าหมายกลุ่มเดียวคือกลุ่มที่มีรายได้ครัวเรือนไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท (รายได้ปี 2546) และปรับเป็นรายได้ครัวเรือนไม่เกินเดือนละ 40,000 บาท ในปัจจุบัน มีเป้าหมายดำเนินการทั้งสิ้น 281,556 หน่วย ซึ่งในปี 2553 ก่อสร้างแล้วเสร็จ 240,186 หน่วย ส่งมอบให้กับผู้ได้สิทธิแล้ว 174,545 หน่วย

อ้างอิง แก้

  1. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 เล่ม 132 ตอนที่ 91ก วันที่ 25 กันยายน 2558
  2. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติ เล่ม 141 ตอนพิเศษ 76 ง วันที่ 15 มีนาคม 2567
  3. ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๑๖ (มีสถานะเทียบเท่าพระราชบัญญัติ ให้จัดตั้งการเคหะแห่งชาติ) ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๘๙ ตอน ๑๙๐ ก พิเศษ หน้า ๕๓ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕
  4. พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๑๖ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ พ.ศ. ๒๕๑๗ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๑ ตอน ๑๐๙ ก พิเศษ หน้า ๑ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๗
  5. พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๑๖ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๒ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๖ ตอน ๓๖ ก พิเศษ หน้า ๙ ๑๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๒
  6. การเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 316
  7. พระราชบัญญัติการเคหะแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๗ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๑ ตอน ๑๔๐ ก หน้า ๒๐ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๗

แหล่งข้อมูลอื่น แก้