การสงครามสมัยใหม่ตอนต้น

การสงครามสมัยใหม่ตอนต้น (อังกฤษ: Early modern warfare) เป็นสมัยของการสงครามภายหลังการสงครามสมัยกลาง มีความเกี่ยวข้องกับจุดเริ่มต้นของการใช้ดินปืนอย่างแพร่หลายและการพัฒนาอาวุธที่เหมาะสมเพื่อใช้ระเบิด รวมทั้งปืนใหญ่และอาวุธปืน ด้วยเหตุนี้ ยุคสมัยนี้ได้ถูกเรียกว่า สมัยการสงครามดินปืน (แนวคิดนี้ได้ถูกนำเสนอโดย Michael Roberts ใน ค.ศ. 1950) ตลอดช่วงเวลาทั้งหมดนี้ยังคงมีอยู่ภายในสมัยการเดินเรือ ซึ่งมีลักษณะครอบคลุมสมัยยุทธวิธีของกองทัพเรือ รวมทั้งการใช้ดินปืนในปืนใหญ๋ของกองทัพเรือ

เหล่ามหาอำนาจทั้งหมดในยุโรปและจักรวรรดิดินปืนของอิสลาม กำลังต่อสู้รบอย่างแข็งขันในสงครามหลายครั้งตลอดช่วงเวลานี้ โดยถูกจัดเป็นกลุ่มตามเงื่อนไขทางภูมิศาสตร์และตามลำดับเหตุการณ์ ดังนี้:

ดินปืนก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 15 แก้

มีการใช้การสงครามดินปืนในการบุกครองญี่ปุ่นของมองโกลใน ค.ศ. 1274 และ 1281 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรูปของการยิงลูกระเบิด (explosive bomb) จากแคทะพัลท์ (catapult) ใส่ทหารข้าศึก[1] บันทึกของญี่ปุ่นมีภาพระเบิดที่ฝ่ายมองโกลใช้กับซามูไรขี่ม้า หลักฐานทางโบราณคดีของการใช้ดินปืนรวมถึงการค้นพบลูกระเบิดหลายลูกในซากเรืออับปางนอกชายฝั่งญี่ปุ่น โดยรังสีเอกซ์พิสูจน์ว่าภายในบรรจุดินปืนอยู่[2]

ทวีปยุโรป แก้

กำเนิดป้อมสนามหลายเหลี่ยม แก้

 
แบบจำลองนครที่มีป้อมสนามหลายเหลี่ยม

สมัยตั้งแต่ ค.ศ. 1500 ถึง 1801 มีความก้าวหน้าของเทคนิคป้อมสนามในทวีปยุโรปอย่างรวดเร็ว ขณะที่ปราสาทสมัยกลางอาศัยกำแพงสูงเพื่อป้องกันข้าศึก ป้อมสนามสมัยใหม่ต้องรับมือกับการยิงของปืนใหญ่ วิศวกรจึงได้พัฒนารูปแบบป้อมที่เรียกว่า "สไตล์อิตาลี" หรือ trace itallienne ซึ่งมีกำแพงเตี้ย หนาและลาดเอียง ซึ่งจะดูดซับหรือทำให้กระสุนปืนใหญ่แฉลบไป นอกจากนี้ ป้อมดังกล่าวยังมีรูปทรงคล้ายดาว โดยมีป้อมแหลม (bastion) ยื่นออกไปเป็นมุมเล็ก ๆ จุดประสงค์ของรูปทรงดังกล่าวเพื่อให้ป้อมแหลมทุกป้อมได้รับการยิงสนับสนุนจากป้อมแหลมที่อยู่ติดกัน ทำให้ฝ่ายเข้าตีไม่มีจุดบอดที่จะหลบเข้ากำบัง ไม่นานป้อมสนามแบบใหม่นี้ก็ลบข้อได้เปรียบของปืนใหญ่ไป

ป้อมหลายเหลี่ยมเป็นป้อมสนามแบบที่พัฒนาขึ้นราวกลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 เพื่อสนองต่อการพัฒนากระสุนระเบิดได้ (explosive shell) แบบป้อมดาว (star fort) ที่ซับซ้อนซึ่งมีมาก่อนป้อมหลายเหลี่ยมนี้มีประสิทธิภาพสูงต่อการโจมตีด้วยปืนใหญ่ แต่ด้อยประสิทธิภาพลงเมื่อเผชิญกับการยิงของปืนที่มีเกลียวในลำกล้อง (rifled) และอำนาจทำลายของกระสุนระเบิดได้ ป้อมสนามแบบหลายเหลี่ยมยังได้รับอธิบายว่าเป็น "ป้อมที่ไม่มีด้านข้าง" ป้อมแบบนี้ถูกสร้างขึ้นมากในสหราชอาณาจักรและจักรวรรดิอังกฤษในสมัยของลอร์ดพัลเมอร์สตัน จึงมักเรียกว่า ป้อมพัลเมอร์สตัน

ในการสนองตอบจุดอ่อนของป้อมดาว วิศวกรทหารจึงพัฒนาป้อมสนามแบบที่เรียบง่ายกว่าแต่ทนทานขึ้นกว่ามาก ตัวอย่างป้อมแบบนี้พบได้ที่ป้อมแมคเฮนรีในบัลติมอร์ สหรัฐอเมริกา ที่ตั้งของยุทธการอันลือเลื่องที่ฟรานซิส สก็อตต์ คีย์ประพันธ์เพลงชาติสหรัฐอเมริกา

อาวุธปืน แก้

อำนาจของรัฐอภิชนาธิปไตยเสื่อมลงทั่วยุโรปตะวันตกระหว่างสมัยนี้ ปราสาทโบราณอายุหลายร้อยปีของอภิชนไม่มีประโยชน์อีกต่อไปเมื่อเจอกับปืนใหญ่ ความสำคัญของชนชั้นสูงในการสงครามก็หมดไปเมื่อทหารม้าหนักสมัยกลางสูญเสียบทบาทสำคัญที่สุดในการยุทธ์ ทหารม้าหนักซึ่งประกอบขึ้นจากอัศวินสวมเกราะเริ่มหมดความสำคัญไปในสมัยกลางตอนปลาย ทั้งธนูยาวอังกฤษและหอก (pike) สวิสได้พิสูจน์แล้วว่าสามารถทำลายกองทัพอัศวินสวมเกราะขนาดใหญ่กว่าได้ อย่างไรก็ดี การใช้ธนูยาวอย่างเหมาะสมนั้นต้องอาศัยการฝึกฝนชั่วชีวิต จึงทำให้การระดมกองกำลังพลธนูขนาดใหญ่นั้นเป็นไปไม่ได้ ขณะเดียวกัน การใช้หอกอย่างเหมาะสมนั้นต้องอาศัยการปฏิบัติในรูปขบวนอย่างซับซ้อน ตลอดจนความอดทนและการประสานอย่างยิ่งของพลหอก และทำให้การระดมกองกำลังขนาดใหญ่เป็นไปได้ยากเช่นกัน

เริ่มตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 14 ช่างทำชุดเกราะเสริมชิ้นเกราะแผ่น (plate armour) เข้ากับเกราะโลหะเชื่อม (mail armor) แบบเดิมของอัศวินและ men-at-arms เพื่อป้องกันลูกศรของธนูยาวและหน้าไม้ เมื่อถึง ค.ศ. 1415 พลราบบางส่วนเริ่มใช้ "ปืนใหญ่มือ" เป็นครั้งแรก และปืนไฟถือขนาดเล็ก พร้อมสายชนวน ปรากฏให้เห็นในสนามรบในคริสต์ศตวรรษที่ 15

ความเสื่อมของเกราะแผ่น แก้

ในช่วง 250 ปี (ค.ศ. 1400 ถึง 1650) ทหารสวมเกราะแผ่นอย่างกว้างขวางในแทบทุกยุทธการสำคัญของยุโรป ทั้งพลราบ (มักเป็นพลหอก) และพลขี่ม้าเกือบทั้งสิ้น เกราะแผ่นถูกคาดหวังว่าจะสะท้อนอาวุธมีคมและหยุดลูกปืนไฟและปืนพกจากระยะไกล ซึ่งมักจะทำได้ตามที่คาด แต่อาวุธปืนกับเกราะแผ่นจะได้ผลตราบเท่าที่ความเร็วและน้ำหนักของลูกปืนยังค่อนข้างต่ำ แต่เมื่อกาลผ่านไป อาวุธปืนมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ปืนคาบศิลาแบบนกปืนชนวนกระสุนด้วยหินเหล็กไฟ (flintlock musket) ซึ่งมีใช้ตั้งแต่ ค.ศ. 1650 สามารถสังหารทหารสวมเกราะได้จากระยะถึง 100 หลา แม้จะไม่ค่อยแม่นยำ

หลัง ค.ศ. 1650 ปืนคาบศิลาแบบนกปืนชนวนกระสุนด้วยหินเหล็กไฟดังกล่าวซึ่งทหารราบส่วนใหญ่ยกเว้นพลหอกถือยิงดินระเบิดและลูกปืนหนักกว่าปืนไฟ ทหารเกณฑ์สามารถฝึกให้ใช้ปืนคาบศิลาได้ในไม่กี่สัปดาห์ เนื่องจากปืนคาบศิลายุคแรก ๆ ขาดความแม่นยำ การฝึกทักษะยิงปืนจึงมีประโยชน์อยู่บ้าง การใช้ปืนคาบศิลาไม่ต้องอาศัยพลกำลังกายมหาศาลของพลหอกหรือทักษะที่ค่อนข้างหาได้ยากของพลขี่ม้า ไม่เหมือนกับปืนไฟที่มีมาก่อน ปืนคาบศิลาสามารถชนะได้แม้กองกำลังทหารม้าสวมเกราะหนักส่วนมาก

เนื่องจากอาวุธปืนต้องการการฝึกฝนเพียงเล็กน้อยก็ใช้ได้ ชาวนาที่มีปืนจึงทำลายระเบียบและความเคารพที่ทหารม้าในยุโรปและชาวตะวันออกธำรงไว้ แม้เกราะแผ่นที่ตีขึ้นอย่างดีจะยังป้องกันอาวุธปืนทะลุทะลวงผ่านได้อยู่ แต่จนถึง ค.ศ. 1690 ชุดเกราะก็ไม่สามารถเทียบได้กับอาวุธปืนจำนวนมากในการเข้าตีด้านหน้าและจึงเลิกใช้ไป แม้แต่ในหมู่ทหารม้า จนสิ้นสุดคริสต์ศตวรรษที่ 17 ทหารในหน่วยทหารราบและทหารม้าส่วนมากล้วนเลือกไม่สวมเกราะทั้งตัว ซึ่งจะทำให้มีความคล่องตัวสูงกว่า มากกว่าสวมเกราะแผ่น ซึ่งจะทำให้มีการป้องกันเล็กน้อย แต่มีความคล่องตัวด้อยลงกว่ามาก

การเปลี่ยนเป็นปืนคาบศิลา แก้

ปืนคาบศิลา ซึ่งมีใช้ตั้งแต่ ค.ศ. 1410 เป็นหนึ่งในอาวุธปืนมือถือแรก ๆ ที่ค่อนข้างเบา (แต่ยังต้องใช้แท่นเพื่อให้สมดุล) และคนหนึ่งคนสามารถใช้ปืนได้หนึ่งกระบอก หนึ่งในอาวุธเหล่านี้มีบันทึกครั้งแรกว่าใช้ในยุทธการที่อาแซ็งกูร์ใน ค.ศ. 1415 แม้ยุทธการดังกล่าวจะยังมีความเป็นสมัยกลางอยู่มาก คำว่า ปืนคาบศิลา เดิมใช้กับแบบที่หนักกว่าของปืนไฟ ซึ่งยิงกระสุนที่สามารถเจาะทะลุเกราะแผ่นได้ แต่ต้องยิงระยะประชิดเท่านั้น ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 อาวุธปืนยังต้องตั้งอยู่บนแท่งค้ำยันเพื่อให้อยู่นิ่ง คาลิเวอร์ (caliver) เป็นแบบที่เบากว่าของปืนไฟ จนถึง ค.ศ. 1600 กองทัพเลิกใช้อาวุธปืนแบบนี้และหันไปใช้ปืนคาบศิลาแบบนกปืนชนวนกระสุนด้วยไม้ขีดไฟ (matchlock musket) ซึ่งใหม่และเบากว่า ตลอดคริสต์ศตวรรษที่ 16 จนถึงคริสต์ทศวรรษ 1690 ปืนคาบศิลาใช้แบบนกปืนชนวนกระสุนด้วยไม้ขีดไฟ

อย่างไรก็ดี แบบนกปืนชนวนกระสุนด้วยไม้ขีดไฟถูกแทนที่ด้วยปืนคาบศิลาแบบชนวนกระสุนด้วยหินเหล็กไฟในคริสต์ทศวรรษ 1690 ซึ่งมีโอกาสด้านน้อยกว่าและมีอัตราบรรจุกระสุนใหม่เร็วกว่า จนถึงเวลานี้ มีเพียงหน่วยทหารม้าเบาสำรวจที่ยังสวมแผ่นเกราะหน้าและหลังเพื่อป้องกันตนเองจากพลปืนคาบศิลาที่อยู่ไกลหรือไร้ระเบียบ

ขณะที่ทหารที่ถืออาวุธปืนสามารถสร้างความเสียหายใหญ่หลวงแก่ทหารม้าได้จากระยะปานกลาง ในระยะประชิด ทหารม้าสามารถสังหารทหารราบที่ถือปืนคาบศิลาได้หากสามารถทลายรูปขบวนของทหารราบและอยู่ใกล้พอที่จะประจัญบานอย่างชุลมุน เป็นเวลาหลายปีที่รูปขบวนทหารราบมีกำลังพลผสมกันซึ่งถือทั้งอาวุธปืนซึ่งให้อำนาจโจมตีและหอกเพื่อให้การป้องกันพลปืนไฟหรือพลปืนคาบศิลาจากการบุกตีของทหารม้า การคิดค้นดาบปลายปืนทำให้มีการรวมอาวุธสองอย่างนี้เป็นหนึ่งในคริสต์ทศวรรษ 1690 ซึ่งเปลี่ยนทหารราบให้เป็นเหล่าที่สำคัญที่สุดในการทหารสมัยใหม่ตอนต้น ซึ่งใช้ปืนคาบศิลาแบบนกปืนชนวนกระสุนด้วยหินเหล็กไฟแล้วติดดาบปลายปืนอย่างเดียวกันทั้งหมด

สภาพของสงคราม แก้

สมัยนี้มีขนาดและขอบเขตของการสงครามเพิ่มขึ้นมาก จำนวนพลรบที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 16 และขยายอย่างมากหลังคริสต์ทศวรรษ 1660 ตัวอย่างเช่น พระมหากษัตริย์ฝรั่งเศสทรงเรียกชายได้รวมราว 20,000 นายในสงครามกับสเปนในคริสต์ทศวรรษ 1550 แต่ทรงระดมได้ถึง 500,000 นายในสงครามสืบราชบัลลังก์สเปนเมื่อถึง ค.ศ. 1700 ยิ่งไปกว่านั้น สงครามยังทวีความนองเลือดในสมัยนี้ บางส่วนเป็นเพราะพัฒนาการของเทคโนโลยีอาวุธและเทคนิคการใช้อาวุธ (ตัวอย่างเช่น การระดมยิงของทหารราบ)

อย่างไรก็ดี เหตุผลหลัก คือ ปัจจุบันกองทัพมีขนาดใหญ่ขึ้นมาก แต่การสนับสนุนส่งกำลังบำรุงแก่กองทัพยังไม่เพียงพอ ซึ่งหมายความว่า กองทัพมักทำลายพื้นที่พลเรือนเพื่อพยายามหาเลี้ยงตนเอง ทำให้เกิดทุพภิกขภัยและการย้ายประชากร ด้วยเหตุนี้ สงครามในสมัยนี้จึงเป็นหนึ่งในบรรดาสงครามที่นองเลือดที่สุดก่อนสมัยใหม่ ตัวอย่างเช่น สงครามสามสิบปีและสงครามสามราชอาณาจักรเป็นความขัดแย้งที่นองเลือดที่สุดในประวัติศาสตร์เยอรมนีและอังกฤษตามลำดับก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง อีกปัจจัยที่เสริมการนองเลือดในสงคราม คือ การขาดชุดกฏที่ชัดเจนเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อเชลยศึกและผู้ที่มิใช่พลรบ เชลยมักถูกเรียกค่าไถ่เป็นเงินหรือเชลยอื่น บ้างก็ถูกสังหารทิ้ง

หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้การสงครามมีผลกระทบเพิ่มขึ้น คือ ความไม่เด็ดขาด กองทัพเคลื่อนที่ได้ช้าในยุคก่อนที่จะมีถนนและคลองดี ๆ ยุทธการเกิดขึ้นค่อนข้างน้อย เพราะกองทัพอาจดำเนินกลยุทธ์ได้เป็นเดือน ๆ โดยไม่มีการขัดกันโดยตรง ยิ่งไปกว่านั้น ยุทธการยังมักถูกคั่นจากการเพิ่มจำนวนของป้อมสนามขั้นสูงและมีปลายแหลม เพื่อควบคุมพื้นที่ กองทัพจำต้องยึดเมืองที่มีป้อมป้องกันอยู่ ไม่ว่าจะเอาชนะข้าศึกได้ในสนามรบหรือไม่ก็ตาม ผลคือ ยุทธการที่พบบ่อยที่สุดในสมัยนี้ คือ การล้อม ซึ่งกินเวลามากและมีราคาแพง การโจมตีเมืองที่มีป้อมอาจลงเอยด้วยความสูญเสียใหญ่หลวงและนครซึ่งไม่ยอมจำนนก่อนการโจมตีมักถูกปล้นอย่างโหดร้าย และทั้งฝ่ายที่รักษาเมืองและล้อมมักสูญเสียอย่างหนักจากโรคระบาด

สภาพของความขัดแย้งที่ไม่เด็ดขาด หมายความว่าสงครามมักยาวและเกิดในท้องถิ่น ความขัดแย้งยืดยาวเป็นทศวรรษและหลายรัฐใช้เวลายามสงครามมากกว่าในยามสงบ ความพยายามของสเปนในการพิชิตเนเธอร์แลนด์คืนหลังการก่อการกำเริบดัตช์ติดขัดด้วยการสงครามล้อมไร้ที่สิ้นสุด ค่าใช้จ่ายทำให้พระมหากษัตริย์สเปนต้องทรงประกาศล้มละลายหลายครั้ง เริ่มตั้งแต่ ค.ศ. 1577

การสงครามที่เปลี่ยนไปทำให้กำลังทหารรับจ้างในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาและสมัยกลางพ้นสมัยไปในที่สุด อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นแบบค่อยเป็นค่อนไป จนถึงสงครามสามสิบปี กำลังพลส่วนมากเป็นทหารรับจ้าง แต่หลังสงคราม รัฐส่วนมากลงทุนในกำลังพลที่มีระเบียบวินัยดีกว่าและบันดาลใจด้วยอุดมการณ์มากกว่า ทหารรับจ้างมีความสำคัญเป็นผู้ฝึกสอนและผู้บริหารอยู่ช่วงหนึ่ง แต่ไม่นานรัฐก็ทำงานเหล่านี้เอง ขนาดกองทัพที่มหาศาลเหล่านี้ต้องอาศัยกำลังผู้ปกครองสนับสนุนขนาดใหญ่ รัฐรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางใหม่ถูกบังคับให้ตั้งระบบข้าราชการประจำที่มีการจัดระเบียบขนาดใหญ่เพื่อจัดการกองทัพเหล่านี้ ซึ่งนักประวัติศาสตร์บางคนแย้งว่า นี่เป็นพื้นฐานของรัฐระบบข้าราชการประจำสมัยใหม่

การเพิ่มภาษีและการทำหน้าที่ของรัฐบาลที่รวมอำนาจที่เพิ่มขึ้นรวมกันทำให้เกิดการก่อการกำเริบทั่วยุโรป เช่น สงครามกลางเมืองอังกฤษ ในหลายประเทศ ผลของความขัดแย้งนี้คือความรุ่งเรืองของราชาธิปไตยแบบสมบูรณาญาสิทธิ์ มีเพียงในอังกฤษและเนเธอร์แลนด์เท่านั้นที่การปกครองแบบมีผู้แทนวิวัฒนาขึ้น ตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 รัฐเรียนรู้ที่จะจัดหาเงินทุนสงครามผ่านการกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำระยะยาวผ่านสถาบันธนาคารชาติ เช่น ธนาคารอังกฤษ รัฐแรกที่ดำเนินกระบวนการนี้ได้อย่างเชี่ยวชาญ คือ สาธารณรัฐดัตช์

การเปลี่ยนโฉมกองทัพยุโรปมีผลกระทบทางสังคมใหญ่หลวง เจ. เอฟ. ซี. ฟุลเลอร์กล่าวประโยคที่มีชื่อเสียงว่า "ปืนคาบศิลาสร้างพลราบ และพลราบสร้างประชาธิปไตย" ข้อโต้แย้งนี้กล่าวว่า การป้องกันรัฐขณะนี้ตกอยู่กับสามัญชน มิใช่อภิชน การก่อการกำเริบของชนชั้นล่างซึ่งมักถูกกำราบได้เป็นประจำในสมัยกลาง ขณะนี้อาจคุกคามอำนาจของรัฐได้อย่างไม่น่าเชื่อ อย่างไรก็ดี อภิชนยังผูกขาดนายทหารอยู่ในแทบทุกกองทัพในสมัยใหม่ตอนต้น รวมทั้งกองบัญชาการสูงสุด

ยิ่งไปกว่านั้น การก่อการกำเริบโดยประชาชนแทบล้มเหลวทุกครั้งหากไม่ได้รับการสนับสนุนและอุปถัมภ์จากชนชั้นขุนนางหรือผู้ดี แต่กองทัพใหม่ ด้วยความที่มีรายจ่ายสูง ยังต้องอาศัยการเก็บภาษีและชนชั้นค้าขายซึ่งเริ่มต้องการบทบาทเพิ่มขึ้นในสังคม อำนาจพาณิชย์ที่ยิ่งใหญ่ของดัตช์และอังกฤษเทียบได้กับความเข้มแข็งทางทหารของรัฐที่ใหญ่กว่ามาก ด้วยการฝึกคนให้ใช้ปืนคาบศิลานั้นง่าย จึงเป็นการง่ายขึ้นที่จะสร้างกองทัพขนาดใหญ่ ความไม่แม่นยำของอาวุธทำให้กลุ่มทหารขนาดใหญ่มีความจำเป็น จึงนำไปสู่การเพิ่มขนาดของกองทัพอย่างรวดเร็ว

เป็นครั้งแรกที่ประชากรกลุ่มใหญ่สามารถเข้าสู่สนามรบ แทนที่จะมีเพียงทหารอาชีพที่มีทักษะสูง มีการถกเถียงว่าการดึงคนจากทั่วประเทศเข้าสู่กำลังทหารที่มีการจัดระเบียบช่วยก่อให้เกิดความสามัคคีของชาติและความรักชาติ และระหว่างสมัยนี้เองที่มีความคิดรัฐชาติสมัยใหม่เกิดขึ้น อย่างไรก็ดี ความคิดดังกล่าวปรากฏชัดก็เมื่อหลังสงครามปฏิวัติฝรั่งเศส ในเวลานี้ การเกณฑ์ทหารจะกลายเป็นกระบวนทัศน์ของการสงครามสมัยใหม่ ทว่าก่อนหน้านั้น แท้จริงแล้วกองทัพแห่งชาติส่วนมากประกอบด้วยคนหลายเชื้อชาติ

ทหารราบ แก้

  • แถวตอน - รูปขบวนนี้ปกติใช้ขณะเดินแถว แต่ก็มีประสิทธิภาพในการเจาะผ่านรูปขบวนแถวหน้ากระดานได้ แม้จะได้รับความสูญเสียอย่างหนัก
  • แถวหน้ากระดาน - รูปขบวนเป็นแถวลึกสองหรือสามแถวซึ่งให้ปืนคาบศิลาส่วนมากนำมาถือ และเป็นรูปขบวนรบที่ใช้บ่อยที่สุด แถวแรกมักจะคุกเข่าหลังจากยิงเสร็จเพื่อให้แถวที่สองยิงต่อ
  • สี่เหลี่ยมจัตุรัส - รูปขบวนนี้ใช้กับทหารม้า โดยจะติดดาบปลายปืน แถวแรกจะคุกเข่าลงโดยชี้ปืนคาบศิลาทำมุมขึ้น (คล้ายกับหอก) แถวที่สองและสามจะยิงใส่ทหารม้าเมื่อเข้าใกล้ รูปขบวนนี้ด้อยประสิทธิภาพเมื่อเผชิญกับทหารม้าและทหารราบผสมกัน หรือการยิงจากปืนใหญ่ในกรณีสี่เหลี่ยมจัตุรัสธรรมดา
  • ทหารรบปะทะ (skirmisher) - ทหารราบเบาซึ่งจะนำหน้าและเป็นกลุ่มแรกที่จะยิงเพื่อดึงให้ข้าศึกเข้าตี พลแม่นปืนจะไม่เล็งทหารทั่วไป แต่จะยิงนายทหารเพื่อให้อีกฝ่ายขาดผู้นำ

ทหารม้า แก้

ความรุ่งเรืองของดินปืนลดความสำคัญของทหารม้าหนักซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นใหญ่ในสมรภูมิ แต่ทหารม้ายังคงประสิทธิภาพในบทบาทใหม่กระทั่งคริสต์ศตวรรษที่ 19 ทหารม้าร่วมกับทหารราบเพิ่มความเป็นมืออาชีพมากขึ้นในสมัยนี้ แต่ทหารม้ายังมีเกียรติภูมิทางสังคมและทหารเหนือกว่าทหารราบ มีการริเริ่มใช้ทหารม้าเบาเพื่อการรบปะทะและสำรวจเพราะข้อได้เปรียบด้านความเร็วและความคล่องตัว หน่วยทหารม้าแบบใหม่ที่เริ่มนำมาใช้ในสมัยนี้ ได้แก่ ดรากูน (dragoon) ซึ่งรบได้ทั้งเดินเท้าและขี่ม้า หรือทหารราบขี่ม้า (mounted infantry)

ดรากูนถูกตั้งใจให้เดินทางบนหลังม้าแต่ต่อสู้แบบเดินเท้าและใช้ปืนเล็กสั้นและปืนพกเป็นอาวุธ แม้แต่ทหารม้าออร์โธด็อกซ์ยังถืออาวุธปืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปืนพกเช่นกัน ซึ่งใช้ในยุทธวิธีชื่อว่า caracole ทหารม้าที่ใช้ดาบบุกตีทหารราบที่ไม่มีระเบียบวินัยยังค่อนข้างเด็ดขาดอยู่ แต่การบุกตีพลปืนคาบศิลาและพลหอกที่มีระเบียบวินัยดีทางด้านหน้าแทบจะไร้ผลโดยสิ้นเชิง ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา หน่วยทหารม้ามีแนวโน้มบุกตีทหารม้าอื่นทางปีกของรูปขบวนทหารราบมากกว่า และพยายามรบอยู่หลังทหารราบข้าศึก เมื่อบรรลุผลตามนี้แล้วและติดตามข้าศึกที่กำลังแตกหนี ทหารม้าหนักก็ยังคงสามารถทำลายกองทัพข้าศึกได้

อ้างอิง แก้

  1. Stephen Turnbull (19 February 2013). The Mongol Invasions of Japan 1274 and 1281. Osprey Publishing. pp. 41–42. ISBN 978-1-4728-0045-9. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-31. สืบค้นเมื่อ 16 April 2013.
  2. Delgado, James (February 2003). "Relics of the Kamikaze". Archaeology. Archaeological Institute of America. 56 (1).