การปล้นธนาคารในติฟลิส ค.ศ. 1907

การปล้นธนาคารโดยบอลเชวิคใน ค.ศ. 1907

การปล้นธนาคารในติฟลิส ค.ศ. 1907 หรือที่รู้จักกันว่า การเวนคืนจัตุรัสเยเรวาน[1] คือการใช้อาวุธปล้นการขนส่งเงินของธนาคารโดยนักปฏิวัติพรรคบอลเชวิคในเมืองติฟลิส ประเทศจอร์เจีย (ปัจจุบันคือกรุงทบิลิซี เมืองหลวงของประเทศ) เหตุปล้นดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ค.ศ. 1907[a] ที่จัตุรัสเยเรวาน (ปัจจุบันคือจัตุรัสเสรีภาพ) ผู้ร่วมก่อการ (ซึ่งต่อมาหลายคนได้กลายเป็นผู้นำระดับสูงของสหภาพโซเวียต) ได้ใช้ทั้งระเบิดและปืนในการเข้าล้อมและยึดรถม้าที่กำลังขนส่งเงินระหว่างที่ทำการไปรษณีย์กับธนาคารรัฐของจักรวรรดิรัสเซีย สาขาติฟลิส ท่ามกลางจัตุรัสที่คลาคล่ำไปด้วยผู้คน ตามเอกสารจดหมายเหตุอย่างเป็นทางการระบุว่า การปล้นดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 40 คน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 50 คน ผู้ก่อการหนีไปได้โดยได้เงินไปกว่า 341,000 รูเบิล (กว่า 3.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ใน ค.ศ. 2008)

การปล้นธนาคารในติฟลิส ค.ศ. 1907
A picture of a city square with people walking about and people riding in carriages.
จัตุรัสเยเรวาน สถานที่เกิดเหตุปล้น ถ่ายในคริสต์ทศวรรษ 1870
วันที่26 มิถุนายน ค.ศ. 1907 (1907-06-26)
เวลา10:30 นาฬิกา โดยประมาณ
ที่ตั้งจัตุรัสเยเรวาน ติฟลิส เขตผู้ว่าการติฟลิส เขตอุปราชคอเคซัส จักรวรรดิรัสเซีย
พิกัด41°41′36″N 44°48′05″E / 41.6934°N 44.8015°E / 41.6934; 44.8015
ชื่ออื่นการเวนคืนจัตุรัสเยเรวาน
จัดโดย
ผู้เข้าร่วม
  • คาโม
  • บาชัว คูเปรียชวีลี
  • ดาตีโค ชีเบรียชวิลี
  • สมาชิกของกลุ่มอื่น ๆ
ผล241,000 รูเบิล (กว่า 303,317 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ใน ค.ศ. 2021) ถูกปล้น
เสียชีวิต40
บาดเจ็บไม่ถึงตาย50
จำนวนถูกพิพากษาลงโทษการตัดสินลงโทษคาโมในการพิจารณาคดีทั้งสองครั้ง

ผู้วางแผน และ/หรือ ลงมือปฏิบัติการในการปล้นธนาคารครั้งนั้น ประกอบด้วยผู้นำระดับสูงหลายคนของพรรคบอลเชวิค รวมไปถึง วลาดิมีร์ เลนิน โจเซฟ สตาลิน แม็กซิม ลิทวินอฟ เลโอนิด คราซิน อเล็กซานเดอร์ บอกดานอฟ และคาโม เพื่อหาเงินทุนสนับสนุนกิจกรรมในการปฏิวัติ รายงานผลที่ตามมาหลังเหตุการณ์ดังกล่าวถูกนำไปใช้ต่อต้านเลนินและสตาลิน ซึ่งคนทั้งสองพยายามเอาตัวออกห่างจากเหตุปล้นธนาคารดังกล่าว

เมื่อถึงยุคโซเวียต จัตุรัสเยเรวานได้เปลี่ยนชื่อเป็นจัตุรัสเลนิน โดยมีการสร้างอนุสาวรีย์เพื่ออุทิศแก่ผู้นำการปฏิวัติ สุสานและอนุสาวรีย์อุทิศให้คาโม ผู้นำของกลุ่มปฏิบัติการปล้นธนาคารครั้งนี้ ตั้งอยู่ใกล้กับจัตุรัสในสวนพุชกินในช่วงสมัยโซเวียตยุคแรก แต่ในภายหลังได้ย้ายออกไป

เบื้องหลัง แก้

พรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย (RSDLP) ซึ่งเป็นองค์กรดั้งเดิมก่อนกลายไปเป็นพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียต ได้ก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1898 โดยมีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจและการเมืองของรัสเซียโดยอาศัยการปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพตามทฤษฎีมาร์กซิสต์ นอกเหนือจากกิจกรรมทางการเมืองแล้ว ทางพรรคและกลุ่มปฏิวัติอื่น ๆ (อย่างเช่น ผู้นิยมอนาธิปไตยและกลุ่มสังคมนิยมปฏิวัติ) ยังดำเนินปฏิบัติการทางทหาร รวมไปถึง "การเวนคืน" ซึ่งเป็นคำสวยหรูที่ใช้เรียกการปล้นรัฐบาลหรือกองทุนเอกชนโดยใช้อาวุธเพื่อหาเงินทุนสนับสนุนกิจกรรมปฏิวัติ[2][3]

นับตั้งแต่ ค.ศ. 1903 เป็นต้นมา พรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซียได้แบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ ได้แก่ บอลเชวิคและเมนเชวิค[4][5][6] หลังจากการปราบปรามการปฏิวัติรัสเซีย ค.ศ. 1905 กลุ่มการเมืองบอลเชวิคและเมนเชวิคต่างก็พยายามที่จะสร้างเอกภาพภายในพรรค โดยจัดการประชุมใหญ่ร่วมและตั้งคณะกรรมการกลางร่วม[7]

 
ภาพถ่ายหน้าตรงของเลนิน ถ่ายเมื่อธันวาคม ค.ศ. 1895

ในระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน ค.ศ. 1907 พรรคได้จัดการประชุมใหญ่ครั้งที่ 5 ในกรุงลอนดอน ด้วยความหวังว่าจะแก้ปัญหาความแตกต่างระหว่างบอลเชวิคและเมนเชวิค[7][8] ในระหว่างการประชุม ได้มีการเลือกตั้งสมาชิกคณะกรรมการกลางร่วม โดยมีสมาชิกบอลเชวิคได้รับเลือกเข้ามาเป็นส่วนน้อย[7] ประเด็นหนึ่งซึ่งแบ่งแยกกลุ่มทั้งสองออกจากกัน คือ มุมมองที่แตกต่างกันในด้านกิจกรรมสงคราม และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง "การเวนคืน"[8] กลุ่มบอลเชวิคที่พร้อมรบที่สุด นำโดย วลาดีมีร์ เลนิน สนับสนุนวิธีการปล้นต่อไป ในขณะที่เมนเชวิคสนับสนุนการรุกแบบค่อยเป็นค่อยไปและเป็นไปโดยสันติกว่าเพื่อการปฏิวัติ และต่อต้านปฏิบัติการสงคราม การประชุมครั้งที่ 5 ประณามการเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องหรือการให้ความสนับสนุนในกิจกรรมสงครามทั้งหมด รวมไปถึง "การเวนคืน" โดยมองว่าเป็น "ความยุ่งเหยิงและเสื่อมเสียคุณธรรม" และเรียกร้องให้ทหารอาสาสมัครของพรรคทั้งหมดสลายตัว[7][8] มติดังกล่าวผ่านโดยเสียงส่วนใหญ่ 65% โดยมีเพียง 6% เท่านั้นที่มีมติไม่เห็นด้วย (ในขณะที่ที่เหลือสละสิทธิ์หรือไม่ลงคะแนน) โดยที่เมนเชวิคทั้งหมดและบอลเชวิคบางส่วนให้การสนับสนุนมติดังกล่าว[7]

ถึงแม้ว่าพรรคจะห้ามจัดตั้งคณะกรรมการและการเวนคืนแยกต่างหาก ในระหว่างการประชุมครั้งที่ 5 บอลเชวิคได้เลือกคณะกรรมการปกครองเป็นของตนเอง เรียกว่า บอลเชวิคกลาง และเก็บไว้เป็นความลับจากสมาชิกที่เหลือของพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตย[4][5][6][7] บอลเชวิคกลาง นำโดย "กลุ่มการเงิน" ซึ่งประกอบด้วยเลนิน เลโอนิด คราซิน และอเล็กซานเดอร์ บอกดานอฟ ในกิจกรรมอื่นของพรรค กลุ่มการเงินได้มีแผนการ "การเวนคืน" จำนวนหนึ่งเตรียมไว้แล้วในหลายส่วนของรัสเซียในระหว่างการประชุมครั้งที่ 5 และรอคอยการปล้นครั้งใหญ่ในติฟลิส ซึ่งเกิดขึ้นเพียงไม่กี่สัปดาห์หลังจากการประชุมครั้งที่ 5 ยุติ[4][5][6][7][8][9]

การเตรียมการ แก้

ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1907 บอลเชวิคระดับสูงได้จัดการประชุมขึ้นในเบอร์ลินเพื่อตกลงขั้นตอนการปล้นหาทุนสำหรับใช้จัดซื้ออาวุธ ผู้เข้าร่วมประชุมได้แก่ เลนิน คราซิน บอกดานอฟ มาซิม ลิตวีนอฟ และโจเซฟ สตาลิน กลุ่มได้ตัดสินใจว่า สตาลิน ผู้ขณะนั้นรู้จักกันในชื่อ โคบา อันเป็นชื่อเล่นเก่า กับสหายชาวจอร์เจีย ไซมอน เตียร์-เปตรอสซีอัน หรือ คาโม ควรจัดการปล้นธนาคารในเมืองติฟลิส[5]

เมื่อตอนจัดประชุมนั้นสตาลินอายุ 29 ปี เขาอาศัยอยู่ในติฟลิสกับภรรยา เอคาเตรีนา และยาคอฟ บุตรชายที่เพิ่งเกิด[10] สตาลินมีประสบการณ์วางแผนก่อการปล้นมาก่อน ซึ่งทำให้เขามีชื่อเสียงว่าเป็นผู้จัดหาเงินคนสำคัญของคณะกรรมการกลาง[1][4] ส่วนคาโมผู้อายุน้อยกว่าสตาลินสี่ปี ก็มีกิตติศัพท์ด้านความโหดเหี้ยม ดังในช่วงหลังๆ ที่มีรายงานว่าเขาตัดหัวใจของชายคนหนึ่งออกจากอก[11] ระหว่างที่กำลังเตรียมการปล้นอยู่นี้ เขาบริหารองค์กรอาชญากรรมแห่งหนึ่งอยู่ เรียกชื่อว่า "เดอะเอาท์ฟิต"[12] สตาลินเรียกคาโมว่าเป็น "ผู้เชี่ยวชาญด้านการปลอมตัว" และเลนินเรียกคาโมว่า "โจรคอเคซัส" ของเขา สตาลินกับคาโมนั้นเติบโตขึ้นมาด้วยกัน และสตาลินเป็นผู้เปลี่ยนความเชื่อของคาโมมาเป็นมาร์กซิสม์[11]

หลังจากการประชุมเมษายน สตาลินและลิตวีนอฟได้เดินทางไปยังติฟลิสเพื่อแจ้งให้คาโมทราบถึงแผนการและเตรียมการปล้น[5][13] ตามข้อมูลใน The Secret File of Joseph Stalin: A Hidden Life (แฟ้มลับของโจเซฟ สตาลิน: ชีวิตที่ถูกปิดบัง) ของโรมัน แบรกแมน ระหว่างที่สตาลินกำลังทำงานร่วมกับบอลเชวิคในการจัดกิจกรรมทางอาชญากรรม เขายังทำงานเป็นผู้ให้ข้อมูลแก่โอฮรานา ตำรวจลับรัสเซีย[5] แบรกแมนอ้างว่าเมื่อกลุ่มได้เดินทางมาถึงติฟลิส สตาลินได้แจ้งข้อมูลให้แก่ผู้ติดต่อโอฮรานาของเขา เจ้าหน้าที่มุฮ์ตารอฟ เกี่ยวกับแผนการปล้นธนาคารและสตาลินได้ให้สัญญาว่าจะให้ข้อมูลแก่ออฮรานาเพิ่มเติมในภายหลัง[5]

เมื่อกลับถึงติฟลิส สตาลินได้เริ่มการวางแผนสำหรับการปล้น เขาสามารถติดต่อกับบุคคลสองคนซึ่งมีข้อมูลภายในเกี่ยวกับกิจการของธนาคารรัฐ ได้แก่ เจ้าหน้าที่รับฝากและถอนเงินธนาคารชื่อว่า จีโก คัสรัดเซ และเพื่อนเก่าสมัยเรียนของสตาลิน ชื่อว่า วอซเนเซนสกี ซึ่งทำงานที่สำนักงานแบงก์เมล์ติฟลิส[14][15] วอซเนเซนสกีกล่าวในภายหลังว่า เขายกย่องบทกวีอันแสนโรแมนติกของสตาลินมาก และตัดสินใจจะช่วยเหลือในการปล้นเนื่องจากความชื่นชมนี้เอง[14][15] เพราะว่าเขาทำงานในสำนักงานแบงก์เมล์ติฟลิส วอซเนเซนสกีจึงสามารถเข้าถึงตารางเวลาลับของรถม้าขนเงินไปยังธนาคารรัฐสาขาติฟลิส[13] วอซเนเซนสกีแจ้งให้สตาลินทราบว่ากำลังจะมีการขนส่งเงินครั้งใหญ่ด้วยรถม้าไปยังธนาคารติฟลิสในวันที่ 26 มิถุนายน ค.ศ. 1907[14][15]

ในการเตรียมการสำหรับการปล้น คราซินได้ช่วยผลิตระเบิดเพื่อใช้โจมตียานพาหนะ[1] แก๊งของคาโมลักลอบนำระเบิดเข้าไปในติฟลิสโดยซุกซ่อนไว้ในโซฟา[16] เพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้าการปล้น คาโมจุดระเบิดหนึ่งในระเบิดของคราซินโดยอุบัติเหตุระหว่างที่พยายามติดตั้งสายชนวน[17] แรงระเบิดได้ทำให้ดวงตาของคาโมได้รับบาดเจ็บสาหัส ทำให้เขามีแผลเป็นถาวร[11][18][19] คาโมไม่สามารถลุกขึ้นจากเตียงได้เป็นเวลาหนึ่งเดือนเนื่องจากความเจ็ดปวดอย่างแรง และยังไม่หายดีเมื่อถึงเวลาลงมือปล้น[11][18][19] ในขณะที่ทางกลุ่มวางแผนสำหรับการปล้น ทางการรัสเซียก็ได้ทราบว่าจะเกิดการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ที่ได้รับการวางแผนโดยกลุ่มปฏิวัติในติฟลิส แม้ว่าจะไม่ทราบถึงรายละเอียดก็ตาม และด้วยสาเหตุดังกล่าว ทางการจึงได้ประจำฝ่ายรักษาความปลอดภัยเพิ่มในจัตุรัสหลักของเมือง[12]

วันลงมือ แก้

ในวันลงมือปล้น 26 มิถุนายน ค.ศ. 1907 ผู้วางแผนลงมือ รวมทั้งสตาลิน ได้พบกันใกล้กับจัตุรัสเยเรวานเพื่อทำให้แผนการเสร็จสมบูรณ์ หลังจากการประชุมครั้งสุดท้าย ผู้วางแผนได้เดินทางไปยังสถานที่ที่กำหนดไว้ในขั้นตอนการเตรียมการโจมตี[20] ตำรวจได้รับการเตือนล่วงหน้าก่อนการปล้นและยืนเฝ้าอยู่ทุกหัวมุมถนนในจัตุรัสเยเรวาน[12] เพื่อรับมือกับการรักษาความปลอดภัยที่เพิ่มขึ้นนี้ สมาชิกแก๊งจึงได้รับมอบหมายให้คอยสอดส่องดูเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยก่อนการปล้น โดยสมาชิกเหล่านี้ประจำอยู่ที่หอคอยเหนือถนนหลักและมองลงไปยังจัตุรัส[11][12]

สมาชิกแก๊งส่วนใหญ่แต่งกายคล้ายกับชาวบ้านและรอคอยอยู่ตามหัวมุมถนนพร้อมด้วยปืนพกลูกโม่และระเบิดมือ[11] ในลักษณะขัดแย้งกับการปล้นครั้งอื่น คาโมได้อำพรางเป็นนายร้อยทหารม้าและเดินทางเข้ามาในจัตุรัสด้วยรถม้าเปิดประทุน[11][21]

ผู้สมรู้ร่วมคิดได้เข้าควบคุมโรงเตี๊ยมซึ่งหันหน้าไปทางจัตุรัสในการเตรียมการปล้น พยานผู้รู้เห็นเหตุการณ์ เดวิด ซากิรัชวีลี ซึ่งในภายหลังได้กล่าวว่าขณะกำลังเดินอยู่ในจัตุรัสเยเรวานพร้อมกับเพื่อนชื่อ บาชัว คูเปรียชวีลี ผู้ซึ่งภายหลังได้กลายมาเป็นว่าเขาเป็นหนึ่งในกลุ่มขโมยนั้นด้วย ได้เชิญเขาเข้าไปในโรงเตี๊ยมและขอให้เขาอยู่ ซากิรัชวีลีค้นพบว่ากลุ่มชายติดอาวุธกำลังหยุดไม่ให้คนที่อยู่ในโรงเตี๊ยมนั้นออกไป เมื่อสเตจโคชขนเงินมาใกล้จัตุรัส กลุ่มชายติดอาวุธก็ได้ออกจากอาคารอย่างรวดเร็วพร้อมกับชักปืนพกออกมา[11]

ธนาคารรัฐของจักรวรรดิรัสเซียได้จัดการขนส่งเงินระหว่างที่ทำการไปรษณีย์และธนาคารรัฐโดยสเตจโคช[22][23] ซึ่งภายในมีเงิน มียามสองคนเฝ้าระวังพร้อมด้วยปืนไรเฟิล พนักงานเก็บเงินของธนาคารรัฐ และนักบัญชีของธนาคาร[1][16][21] สเตจโคชเปิดประทุนพร้อมด้วยยามอีกคันหนึ่งวิ่งตามหลังมา และมียามขี่ม้าขี่อยู่ข้างหน้า ด้านข้าง และตามหลังสเตจโคชอีกด้วย[16][21]

การโจมตี แก้

สเตจโคชได้แล่นผ่านทางจัตุรัสที่คลาคล่ำไปด้วยผู้คนเมื่อเวลาราว 10.30 น. เมื่อสเตจโคชเข้ามาใกล้ คูเปรียชวีลีได้ให้สัญญาณแก่ผู้ปล้นให้ทำการโจมตี[1][16] เมื่อได้รับสัญญาณแล้ว ผู้ปล้นได้ดึงสลักจากระเบิดมือของตนและขว้างเข้าใส่รถม้า[16][24] แรงระเบิดที่เกิดขึ้นได้สังหารม้าและยาม ผู้ปล้นยิงชายรักษาความปลอดภัยหลายนายที่เฝ้าสเตจโคช เช่นเดียวกับที่รักษาความปลอดภัยในจัตุรัส[16]

พยานผู้เห็นเหตุการณ์ได้รายงานว่าระเบิดถูกโยนมาจากทุกทิศทาง[16][25] หนังสือพิมพ์จอร์เจีย อิซารี รายงานว่า "ไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าเหตุยิงกันอันน่าหวาดกลัวนั้นเป็นเสียงตูมของปืนใหญ่หรือแรงระเบิดของระเบิด ... เสียงได้ทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นทุกหนแห่ง ... เกือบจะทั่วทั้งเมือง ผู้คนได้เริ่มต้นที่จะวิ่งหนี รถม้าและเกวียนได้วิ่งควบหนีไป ..."[16] แรงระเบิดรุนแรงมากเสียจนมีรายงานว่าทำให้ปล่องไฟที่อยู่ใกล้เคียงล้มลงมา และกระจกทุกบานในรัศมีหนึ่งไมล์แตกกระจาย[26][27] เอคาเทียรีนา สวานิดเซ ภรรยาของสตาลิน ซึ่งกำลังยืนอยู่บนระเบียงที่บ้านของพวกเขาใกล้กับจัตุรัสพร้อมกับครอบครัวและลูกน้อย เมื่อพวกเขาได้ยินเสียงระเบิด พวกเขาก็ได้รีบเร่งวิ่งเข้าไปหลบอยู่ในบ้านด้วยความหวาดกลัว[26]

ถึงแม้ว่าแรงระเบิดจะฆ่ายามและม้าไปเป็นจำนวนมาก หนึ่งในม้าที่ถูกเทียมเข้ากับสเตจโคชได้รับบาดเจ็บแต่ยังมีชีวิตอยู่[21][26] มันได้รีบผละไปจากจุดเกิดเหตุพร้อมกับลากสเตจโคชไปด้วย[21][26] ผู้ปล้นสามคน ได้แก่ คูเปรียชวีลี, ดาติโค ชีเบรียชวิลี และคาโม ได้ไล่ตามม้าตัวดังกล่าวซึ่งลากสเตจโคชบรรทุกเงินไปด้วย[14] คูเปรียชวีลีโยนระเบิดมือเข้าใส่สเตจโคชที่กำลังหลบหนีนั้น และแรงระเบิดได้ระเบิดเอาขาของม้า ซึ่งทำให้ม้าล้มและสเตจโคชหยุดลงในที่สุด[14] แรงระเบิดยังได้ทำให้คูเปรียชวีลีลอยขึ้นไปในอากาศ และตกลงมามึนงงกับพื้น[14] ในภายหลัง คูเปรียชวีลีมีสัมปชัญญะอีกครั้งหนึ่งและเริ่มต้นย่องออกไปจากจัตุรัสก่อนที่กองกำลังความมั่นคงจะมาถึง[28] หลังจากที่สเตจโคชถูกหยุดไว้แล้ว ดาติโค ชีเปรียชวีลีได้เดินเข้าไปยังสเตจโคชเพื่อคว้าเอากระสอบเงิน ขณะที่คาโมซึ่งยิงปืนพกจากบนรถม้าเปิดประทุน ได้วิ่งอย่างเร็วเข้าไปหาสเตจโคชคันนั้น[14][21][29] เมื่อคาโมมาถึงสเตจโคช ชีเปรียชวีลีและผู้ปล้นอีกคนหนึ่งซึ่งมาถึงสเตจโคชได้ช่วยโยนเงินที่ขโมยมาเข้าไปในรถม้าของคาโม[29] เพื่อให้ทันเวลา ผู้ปล้นจึงไม่ทันเอาเงินอีกสองหมื่นรูเบิลที่ยังคงเหลืออยู่ในสเตจโคช[28] หลังจากการปล้น คนขับสเตจโคชที่รอดชีวิตได้พยายามยักยอกเงินส่วนที่เหลือนี้และถูกจับในภายหลังข้อหาลักทรัพย์[28]

การหลบหนีและเหตุการณ์สืบเนื่อง แก้

หลังจากได้รับเงินมาแล้ว คาโมได้ขี่รถม้าออกจากจัตุรัสอย่างรวดเร็วและเผชิญหน้ากับรถม้าของตำรวจที่ขี่โดยรองผู้กำกับการ แทนที่จะหันหลังกลับไปอีกทางหนึ่ง คาโมกลับแสดงตนว่าเป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังความมั่นคงและตะโกนใส่นายตำรวจว่า "เงินปลอดภัยแล้ว วิ่งไปยังจัตุรัสแล้ว"[29] รองผู้กำกับการคนดังกล่าวเชื่อฟังคำพูดนั้น และอีกเป็นเวลานานกว่าที่เขาจะพบว่าเขาถูกหลอกโดยผู้ปล้นที่กำลังหลบหนี รองผู้กำกับการผู้นี้ทำอัตวินิบาตกรรมหลังจากนั้นไม่นาน[29]

คาโมได้ขี่ไปยังที่ซ่อนของแก๊งที่ซึ่งเขาถอดเครื่องแบบออก[29] ผู้ปล้นทั้งหมดได้กระจายตัวไปอย่างรวดเร็ว และไม่มีผู้ใดถูกจับกุมจากเหตุดังกล่าวโดยทางการแม้แต่คนเดียว[21][28] หนึ่งในผู้ปล้นได้หลบหนีออกจากจัตุรัส ขโมยเครื่องแบบครูที่เขาพบใกล้เคียง จากนั้นจึงกลับเข้ามาในจัตุรัสเพื่อชื่นชมผลงานของพวกเขา[28] สิ่งที่เขาเห็นนั้นคือฉากการสังหารอันนองเลือด[30]

มีผู้ได้รับบาดเจ็บห้าสิบคนถูกทิ้งให้นอนอยู่ในจัตุรัสพร้อมกับศพคนและม้า[21][25][30] ทางการกล่าวว่ามีเพียงสามคนเท่านั้นที่เสียชีวิต แต่เอกสารในหอจดหมายเหตุออครานาเปิดเผยว่าตัวเลขที่แท้จริงนั้นอยู่ที่ราวสี่สิบคน[30]

ธนาคารรัฐไม่ทราบแน่ชัดว่าเงินถูกขโมยไปเท่าใดจากเหตุการณ์ดังกล่าว แต่ส่วนใหญ่ประมาณว่าอยู่ที่ราว 341,000 รูเบิล (ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 3.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามค่าเงินใน ค.ศ. 2008)[21][30] จากจำนวน 341,000 รูเบิลที่ถูกปล้นไปนั้น ราว 91,000 รูเบิลเท่านั้นที่เป็นธนบัตรเล็กที่ไม่สามารถตามรอยได้ แต่อีก 250,000 รูเบิล เป็นธนบัตร 500 รูเบิลขนาดใหญ่ซึ่งมีหมายเลขอนุกรมซึ่งตำรวจทราบ[21][30] ทำให้การแลกเงินเหล่านี้โดยที่ไม่ถูกตรวจจับได้ทำได้ยาก[21][30]

บทบาทของสตาลินในการปล้น แก้

พฤติการณ์ที่แน่ชัดของสตาลินในวันปล้นยังคงไม่เป็นที่ทราบกันและยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่[14] หลังจากการปล้น มีข่าวลือว่าสตาลินเป็นผู้โยนระเบิดมือลูกแรกจากหลังคาของคฤหาสน์ที่อยู่ใกล้เคียง[16] หนึ่งข้อมูลหนึ่ง พี.เอ. ปัฟเลนโค กล่าวอ้างว่าสตาลินโจมตีรถม้าด้วยตัวเองและได้รับบาดเจ็บจากสะเก็ดระเบิด[14] ในภายหลัง คาโมได้รายงานโดยระบุว่า สตาลินไม่มีส่วนร่วมในปฏิบัติการปล้นครั้งดังกล่าว แต่ได้มองดูจากระยะไกล[21][29] แหล่งข้อมูลอื่นระบุในรายงานของตำรวจว่า สตาลิน "เฝ้าสังเกตการนองเลือดอย่างไร้ความปรานี ขณะสูบบุหรี่ไปด้วย จากลานของคฤหาสน์หลังหนึ่ง"[29] แหล่งข้อมูลอีกแหล่งหนึ่งอ้างว่า แท้จริงแล้วสตาลินอยู่ที่สถานีรถไฟระหว่างการปล้นและมิได้อยู่ที่จัตุรัส[29] พี่สะใภ้ของสตาลินกล่าวว่า ในคืนวันปล้นนั้น สตาลินได้มาที่บ้านและกล่าวแก่ครอบครัวถึงความสำเร็จของการปล้น[30]

บทบาทของสตาลินในการปล้นได้ถูกตั้งคำถามในภายหลังในหมู่นักปฏิวัติในสมัยหลัง ที่โดดเด่นได้แก่ เลออน ทรอตสกี และบอริส นิโคลาเอฟสกี ในหนังสือ "Stalin – An Appraisal of the Man and his Influence" (สตาลิน - การประเมินค่าบุรุษและอิทธิพลของเขา) ของทร็อตสกี เขาได้วิเคราะห์จากสื่อตีพิมพ์หลายแขนงซึ่งอธิบายถึงการเวนคืนติฟลิสและกิจกรรมติดอาวุธอื่น ๆ ของบอลเชวิคในเวลานั้น และได้สรุปว่า "คนอื่น ๆ ได้ทำการสู้รบ แต่สตาลินได้ควบคุมจากระยะไกล"[2] ตามข้อมูลของนิโคลาเอฟสกี โดยทั่วไปแล้ว "บทบาทของสตาลินในกิจกรรมของกลุ่มคาโมได้กล่าวเกินความเป็นจริงตามลำดับ"[31] อย่างไรก็ตาม ในภายหลัง คุนได้ค้นพบเอกสารจดหมายเหตุทางการที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า "นับตั้งแต่ปลาย ค.ศ. 1904 หรือต้น ค.ศ. 1905 สตาลินมีส่วนร่วมในการร่างแผนการเวนคืน" และ "เป็นที่แน่นอนแล้วว่า [สตาลิน] ควบคุมจากปีกของแผนเริ่มต้นของกลุ่ม" ซึ่งปฏิบัติการปล้นในติฟลิส[31]

การตอบสนองของฝ่ายความมั่นคงและการสืบสวน แก้

สื่อมวลชนได้รายงานการปล้นครั้งนี้อย่างกว้างขวาง: เดย์ลีมีร์เรอร์ในลอนดอนเขียนบทความภายใต้พาดหัวข่าว "Rain of Bombs: Revolutionaries Hurl Destruction among Large Crowds of People" (ห่าระเบิด: นักปฏิวัติขว้างทำลายกลางหมู่ฝูงชน) เดอะไทมส์ออฟลอนดอนเขียนบทความภายใต้พาดหัวข่าว "Tiflis Bomb Outrage" (ระเบิดทำลายติฟลิส) เลอ ตงป์สในปารีสเขียนบทความใต้พาดหัวข่าว "Catastrophe!" (มหันตภัย!) และเดอะนิวยอร์กไทมส์เขียนบทความภายใต้พาดหัวข่าว "Bomb Kills Many; $170,000 Captured" (ระเบิดคร่าคนจำนวนมาก: ฉกเงิน 170,000 ดอลลาร์)[21][25][28]

สำหรับส่วนของทางการ ได้ตอบสนองต่อการปล้นโดยการระดมกองทัพ ปิดถนน และปิดล้อมจัตุรัส โดยหวังว่าจะสามารถจับกุมผู้สมคบคิดและได้รับเงินคืน[28] ตำรวจเริ่มต้นสืบสวนอาชญากรรมดังกล่าว และหน่วยสืบสวนพิเศษที่ถูกส่งเข้ามาในพื้นที่เพื่อนำการสืบสวน[21][25][28] โชคร้ายสำหรับเจ้าหน้าที่สืบสวน คำให้การของพยานนั้นน่าสงสัยและขัดแย้งกันเอง[28] ยิ่งไปกว่านั้น พวกเขายังไม่ทราบด้วยว่ากลุ่มใดมีส่วนรับผิดชอบต่อเหตุดังกล่าว เนื่องจากมีข่าวลือเป็นจำนวนมากว่าพรรคสังคมนิยมโปแลนด์ อาร์มีเนีย พวกอนาธิปไตย พรรคสังคมนิยม-ปฏิวัติเป็นผู้ลงมือ หรือแม้กระทั่งข่าวลือที่ว่าทางการรัสเซียจัดฉากขึ้นเองด้วย[28]

ในหนังสือ The Secret File of Joseph Stalin: A Hidden Life (แฟ้มลับของโจเซฟ สตาลิน: ชีวิตที่ถูกปิดบัง) ของโรมัน แบร็กแมน หลายวันหลังจากการปล้น เจ้าหน้าที่โอฮรานา มูฮ์ตารอฟ ได้ตั้งคำถามสตาลินเกี่ยวกับการปล้นในอพาร์ตเมนต์ลับแห่งหนึ่ง เจ้าหน้าที่ได้ทราบข่าวลือมาว่าสตาลินยืนมองอยู่โดยไม่ทำอะไรระหว่างการปล้น มูฮ์ตารอฟถามสตาลินว่าทำไมเขาจึงไม่แจ้งพวกเขาเกี่ยวกับการปล้น แต่สตาลินระบุว่าเขาได้ให้ข้อมูลต่อทางการมากพอเพื่อป้องกันการปล้นแล้ว การตั้งคำถามยกระดับขึ้นกลายเป็นการโต้เถียงอย่างเผ็ดร้อน มูฮ์ตารอฟตบหน้าสตาลินจนเจ้าหน้าที่ออครานาคนอื่นต้องเข้าห้ามไว้ หลังจากเหตุดังกล่าว มูฮ์ตารอฟถูกพักงานจากโอฮรานา และสตาลินได้รับคำสั่งให้ออกจากติฟลิสและไปยังบาคูเพื่อรอผลตัดสินใจจากเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับคดีดังกล่าว สตาลินออกจากบาคูพร้อมด้วยเงิน 20,000 รูเบิลจากจำนวนที่ถูกขโมยไปในเดือนกรกกฎาคม ค.ศ. 1907[21] การกล่าวอ้างที่ว่าสตาลินทำงานร่วมกับโอฮรานาเป็นหัวข้อโต้เถียงในหมู่นักประวัติศาสตร์เป็นเวลาหลายทศวรรษ[32]

การขนย้ายเงินและการจับกุมคาโม แก้

เงินที่ได้จากการปล้นเดิมถูกเก็บรักษาไว้ที่บ้านเพื่อนของสตาลิน มีฮาและมาโร โบชอริดเซ ซึ่งอาศัยอยู่ในติฟลิส[29] เงินถูกเย็บซ่อนไว้ในฟูกเพื่อจะสามารถขนย้ายและเก็บรักษาได้ง่ายโดยไม่เป็นที่สงสัย[33] ฟูกที่เก็บซ่อนเงินไว้นั้นถูกเคลื่อนย้ายจากเซฟเฮาส์หลังหนึ่งไปยังอีกหลังหนึ่ง และในภายหลังได้เคลื่อนย้ายไปยังเก้าอี้ยาวของผู้อำนวยการ ณ สถานีอุตุนิยมวิทยาติฟลิส[21][30] สตาลินทำงานที่สถานีอุตุนิยมวิทยาดังกล่าวก่อนหน้าการปล้น และอาจเป็นเหตุผลว่าเหตุใดจึงนำเงินมาซ่อนไว้ที่นี่[21][30] แหล่งข้อมูลบางแหล่งยังได้กล่าวอ้างว่าสตาลินได้ช่วยขนย้ายเงินเข้ามาในสถานีอุตุนิยมวิทยาดังกล่าวอีกด้วย[30] ผู้อำนวยการสถานีกล่าวว่าเขาไม่เคยรู้มาก่อนว่าเงินที่ถูกขโมยนั้นถูกเก็บไว้ใต้จมูกของเขาเช่นนี้[30]

เงินที่ถูกปล้นมาส่วนใหญ่ถูกขนย้ายโดยคาโม ผู้ซึ่งนำเงินไปให้แก่เลนินในฟินแลนด์ ซึ่งในขณะนั้นยังเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิรัสเซีย จากนั้นคาโมได้ใช้เวลาในช่วงฤดูร้อนที่เหลืออาศัยอยู่กับเลนินที่ดาชาของเขา ในฤดูใบไม้ร่วงปีนั้น คาโมเดินทางออกจากฟินแลนด์ไปเพื่อซื้ออาวุธสำหรับกิจกรรมในอนาคต เขาได้เดินทางไปยังปารีส และต่อไปยังเบลเยียมเพื่อซื้ออาวุธและเครื่องกระสุน จากนั้นไปยังบัลแกเรียเพื่อซื้อตัวจุดระเบิด 200 ตัว[18]

หลังจากการซื้ออาวุธในบัลแกเรีย คาโมเดินทางไปยังเบอร์ลินและส่งจดหมายจากเลนินให้แก่แพทย์บอลเชวิคที่มีชื่อเสียง ยาคอฟ จีโตมีร์สกี โดยขอให้แพทย์ผู้นั้นให้ความช่วยเหลือในการรักษาดวงตาที่ยังได้รับบาดเจ็บของคาโม[18] เลนินหวังว่าจะช่วยชายผู้ซึ่งประสบความสำเร็จในการลงมือปล้น แต่กลับส่งตัวคาโมให้แก่สายลับสองหน้าโดยมิได้ตั้งใจ[18] จีโตมีร์สกีได้ทำงานอย่างลับ ๆ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลรัสเซียและรีบแจ้งข่าวแก่โอฮรานาเกี่ยวกับการมาถึงของคาโม[18] จากนั้น โอฮรานาได้ร้องขอให้ตำรวจกรุงเบอร์ลินเข้าจับกุมคาโม[18] และเมื่อมีการจับกุม พวกเขาได้พบหนังสือเดินทางออสเตรียปลอมและกระเป๋าเงินที่มีตัวจุดระเบิด 200 ตัว ซึ่งเขาวางแผนที่จะใช้ในการปล้นธนาคารครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง[34]

การจ่ายธนบัตรที่มีเครื่องหมาย แก้

หลังจากทราบข่าวการถูกจับกุมของคาโมในกรุงเบอร์ลินใน ค.ศ. 1907 เลนินกลัวว่าตนอาจถูกจับกุมด้วยเช่นกันและวางแผนที่จะหลบหนีออกจากฟินแลนด์พร้อมกับภรรยา[35] เพื่อที่จะหนีออกจากฟินแลนด์โดยไม่ถูกสะกดรอยตาม เลนินเดินเป็นระยะทาง 4.8 กิโลเมตรข้ามทะเลสาบที่เป็นน้ำแข็งในเวลากลางคืนเพื่อขึ้นเรือกลไฟที่เกาะใกล้เคียง[36] ระหว่างการเดินทางข้ามน้ำแข็งนั้น เลนินและเพื่อนร่วมทางของเขาอีกสองคนหวุดหวิดที่จะจมน้ำเสียชีวิตเมื่อน้ำแข็งแตกออกใต้เท้าของพวกเขา ทำให้เลนินคิดว่า "อา ช่างเป็นวิธีตายที่โง่เสียจริง"[36] เลนินกับภรรยาสามารถหลบหนีออกจากฟินแลนด์ได้สำเร็จ และมุ่งหน้าไปยังสวิตเซอร์แลนด์[35][36]

การแลกธนบัตรจากการปล้นที่ไม่มีเครื่องหมายนั้นทำได้ง่าย แต่หมายเลขอนุกรมของธนบัตร 500 รูเบิลเป็นที่รู้กันของเจ้าหน้าที่ทางการ ทำให้การแลกธนบัตรเหล่านี้ในธนาคารรัสเซียนั้นเป็นไปไม่ได้[21] เมื่อถึงปลายปี ค.ศ. 1907 เลนินตัดสินใจที่จะแลกเปลี่ยนธนบัตร 500 รูเบิลที่เหลือในต่างประเทศ[35] ในการเตรียมการสำหรับการแลกเปลี่ยน คราซินได้ให้นักปลอมแปลงเอกสารพยายามเปลี่ยนแปลงหมายเลขอนุกรมบางตัว[37] ธนบัตรเหล่านี้จำนวน 200 ใบถูกส่งไปยังต่างประเทศโดยมาร์ติน ลืยอะดอฟ (ธนบัตรเหล่านี้ถูกเย็บเข้ากับเสื้อกล้ามโดยภรรยาของเลนินและบอกดานอฟที่สำนักงานใหญ่ของเลนินในคูออคคาลา)[7] แผนการของเลนินคือการให้บุคคลจำนวนมากแลกเปลี่ยนธนบัตร 500 รูเบิลที่ถูกขโมยนี้พร้อมกันในธนาคารหลายแห่งทั่วทวีปยุโรปในเดือนมกราคม ค.ศ. 1908[35] จีโตมีร์สกีทราบแผนการดังกล่าวและรายงานข้อมูลนี้ให้กับโอฮรานา[35] โอฮรานาติดต่อกรมตำรวจทั่วทวีปยุโรปและร้องขอให้จับกุมใครก็ตามผู้พยายามขึ้นเงินธนบัตรดังกล่าว[35]

เดือนมกราคม ค.ศ. 1908 มีหลายคนถูกจับกุมขณะพยายามแลกเปลี่ยนธนบัตร[38][39][40] หนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์ รายงานว่า ผู้หญิงคนหนึ่งผู้ซึ่งพยายามจ่ายธนบัตร 500 รูเบิลที่มีเครื่องหมายพยายามกลืนหลักฐานหลังจากที่แคชเชียร์เรียกตำรวจ แต่ตำรวจกำช่องคอของเธอไว้ก่อนที่เธอจะกลืนลงไป[40] การจับกุมครั้งสำคัญที่สุด ได้แก่ มาซิม ลิตวินอฟ ผู้ซึ่งถูกจับกุมพร้อมกับธนบัตร 500 รูเบิล จำนวน 12 ใบ ซึ่งปล้นมาขณะกำลังขึ้นรถไฟพร้อมกับอนุภรรยาที่สถานีรถไฟการ์ดูนอร์ในปารีส[41][42] ลิตวินอฟวางแผนจะไปยังลอนดอนเพื่อจ่ายธนบัตรดังกล่าว[41] รัสเซียต้องการให้ส่งลิตวินอฟเป็นผู้ร้ายข้ามแดน แต่รัฐมนตรียุติธรรมฝรั่งเศสกลับตัดสินใจเนรเทศลิตวินอฟและอนุภรรยาจากแผ่นดินฝรั่งเศสแทน[41] ความล้มเหลวที่จะส่งผู้ร้ายข้ามแดนทำให้รัฐบาลรัสเซียโกรธ[41] รัฐบาลฝรั่งเศสแถลงอย่างเป็นทางการระบุว่า คำร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนของรัสเซียนั้นมาช้าเกินไป แต่หลักฐานบางชิ้นได้พิจารณาว่ารัฐบาลฝรั่งเศสปฏิเสธการส่งผู้ร้ายข้ามแดนเนื่องจากพวกสังคมนิยมฝรั่งเศสได้กดดันทางการเมืองเพื่อให้ปล่อยตัวลิตวินอฟ[41]

นาเดซฮดา ครุปสกายา ภรรยาของเลนิน อภิปรายถึงเหตุการณ์ดังกล่าวในบันทึกความทรงจำของเธอว่า

แบรกแมนอ้างว่าถึงแม้จะมีการจับกุมดังกล่าว เลนินยังคงพยายามแลกธนบัตร 500 รูเบิลต่อไปและทำการแลกเปลี่ยนธนบัตร 500 รูเบิลจำนวนหนึ่งกับหญิงนิรนามในมอสโกเป็นเงิน 10,000 รูเบิล[39] อย่างไรก็ตาม ตามข้อมูลของนีโคลาเอฟสกี หลังจากการจับกุมในเดือนมกราคม ค.ศ. 1908 แล้วเลนินก็ยุติความพยายามใดๆ ที่จะแลกธนบัตรเหล่านี้อีก อย่างไรก็ตาม บอกดานอฟและคราซินยังคงพยายามต่อไปอีกหลายครั้ง[7] ตามข้อมูลของนีโคลาเอฟสกี บอกดานอฟพยายามและล้มเหลวที่จะแลกเปลี่ยนธนบัตรในอเมริกาเหนือ ขณะที่คราซินประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนหมายเลขอนุกรมและแลกเปลี่ยนธนบัตรอีกเพิ่มเติม[7] ไม่นานหลังจากนั้น เพื่อนร่วมงานของเลนินได้เผาธนบัตร 500 รูเบิลทั้งหมดที่พวกเขายังครอบครองอยู่[7][44]

การพิจารณาคดีคาโม แก้

หลังจากที่คาโมถูกจับกุมในกรุงเบอร์ลินและกำลังรอคอยการพิจารณาคดี คาโมได้รับข้อความจากคราซินผ่านทางทนายความของเขา ออสการ์ โคฮ์น ซึ่งบอกให้คาโมแสร้งทำเป็นวิกลจริตเพื่อที่ว่าเขาจะได้รับการประกาศว่าไม่เหมาะสมที่จะรับการพิจารณาคดี[45] เพื่อแสดงออกซึ่งความวิกลจริต คาโมปฏิเสธอาหาร ฉีกทึ้งเสื้อผ้า ผม ตลอดจนพยายามอัตวินิบาตกรรมโดยการแขวนคอตนเอง เฉือนข้อมือตัวเอง และกินอุจจาระของตน[46][47][48] เพื่อที่จะตรวจสอบให้แน่ใจว่าคาโมไม่ได้แสร้งวิกลจริต แพทย์ชาวเยอรมันได้แทงเข็มหมุดเข้าใต้เล็บ แทงเข็มเล่มยาวเข้าที่หลัง และจี้ด้วยเตารีดร้อน ๆ แต่คาโมยังไม่หลุดจากการแสดงของตน[47][49] หลังจากการทดสอบดังกล่าวทั้งหมดแล้ว หัวหน้าแพทย์แห่งโรงพยาบาลจิตเวชกรุงเบอร์ลิน เขียนเมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1909 ว่า "ไม่มีหลักฐานสนับสนุนความเชื่อที่ว่า [คาโม] กำลังแสร้งวิกลจริต เขามีการเจ็บป่วยทางจิตอย่างไม่ต้องสงสัย และไม่สามารถที่จะปรากฏตัวต่อหน้าศาล หรือได้รับโทษตามกฎหมาย มันเป็นที่น่าสงสัยอย่างยิ่งว่าเขาจะสามารถฟื้นฟูได้อย่างสมบูรณ์หรือเปล่า"[50]

ค.ศ. 1909 คาโมถูกส่งตัวข้ามแดนไปยังรัสเซียที่ซึ่งเขายังคงแสร้งวิกลจริตต่อไป[38][51] ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1910 คาโมถูกพิจารณาคดีเนื่องจากบทบาทในการปล้นธนาคารติฟลิส[52] ระหว่างการพิจารณาคดี คาโมยังคงแสร้งวิกลจริตโดยไม่สนใจการสืบสวนและให้อาหารนกเลี้ยงอย่างเปิดเผยซึ่งเขาแอบนำเข้ามาด้วยโดยซ่อนไว้ในเสื้อของตน[52] การพิจารณาคดีหยุดชะงักไปขณะที่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบอาการวิกลจริตของคาโม[52][53] ศาลพบว่าเขามีจิตปรกติเมื่อเขาปล้นธนาคารที่ติฟลิส แต่ขณะนี้กลับมีอาการป่วยทางจิตและควรจะถูกกักกันตัวจนกว่าเขาจะหาย[54]

ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1911 หลังจากแสร้งวิกลจริตมากว่าสามปี คาโมหลบหนีจากแผนกจิตเวชของเรือนจำในติฟลิสโดยเลื่อยผ่านลูกกรงหน้าต่างของเขาและปีนลงมาด้วยเชือกทำเอง[38][51][55]

ภายหลัง คาโมได้บอกเล่าถึงประสบการณ์ในการแสร้งวิกลจริตมาเป็นเวลานานกว่าสามปีว่า

หลังจากหลบหนี คาโมพบกับเลนินในปารีส[44] คาโมรู้สึกกังวลใจที่ได้ยินว่า "มีการแตกแยกเกิดขึ้น" ระหว่างเลนิน บอกดานอฟ และคราซิน[44] คาโมเล่าให้เลนินฟังถึงการจับกุมตัวเขาและที่ว่าเขาแสร้งทำเป็นวิกลจริตอย่างไรขณะที่อยู่ในเรือนจำ[44] หลังจากออกจากปารีส คาโมได้พบกับคราซินและวางแผนที่จะก่อการปล้นด้วยอาวุธอีกครั้งหนึ่ง[38] คาโมถูกจับกุมก่อนหน้าที่จะเกิดการปล้นและถูกนำตัวขึ้นศาลในติฟลิสเมื่อ ค.ศ. 1913 จากความผิดซึ่งรวมไปถึงการปล้นธนาคารติฟลิส[57][38][58] ขณะนี้ระหว่างที่ถูกจองจำ คาโมมิได้แสร้งวิกลจริตแต่เขาแสร้งทำเป็นว่าลืมทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยเกิดขึ้นกับเขาระหว่างที่เขาเคย "บ้า" มาก่อน[58] การพิจารณาคดีกินเวลาสั้นๆ และคาโมถูกพิพากษาลงโทษประหารชีวิตจำนวนสี่กระทง[59]

ขณะที่ดูเหมือนว่าต้องตายแน่ ๆ แต่แล้วคาโมกลับมีโชคดีเช่นกันกับบรรดานักโทษคนอื่น ๆ เขาได้รับการลดหย่อนโทษเป็นการจำคุกระยะเวลานานแทนอันเป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองครบรอบสามศตวรรษของราชวงศ์โรมานอฟ[38][60] คาโมได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำหลังการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ใน ค.ศ. 1917[38][61]

ผลที่ตามมา แก้

แม้ว่าผู้ก่อการรายสำคัญนอกเหนือไปจากคาโมไม่ได้ถูกนำตัวมาพิจารณาคดี ความอื้อฉาวของการปล้นได้มีผลกระทบอย่างสำคัญต่อการเมืองภายในของทั้ง RSDLP และกลุ่มบอลเชวิคเอง[62]

ในตอนแรกยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าใครอยู่เบื้องหลังการปล้นดังกล่าว แต่หลังจากการจับกุมคาโม ลิตวินอฟและคนอื่น ๆ ความเชื่อมโยงของบอลเชวิคก็ได้ปรากฏเด่นชัด[7] หลังจากที่ค้นพบว่าบอลเชวิคมีส่วนเกี่ยวข้องกับการปล้นดังกล่าว เมนเชวิครู้สึกว่าถูกหักหลังและโกรธ เหตุการณ์ดังกล่าวบ่งบอกว่าศูนย์บอลเชวิคดำเนินการเป็นอิสระจากคณะกรรมการกลางร่วมและกระทำการอันถูกห้ามอย่างชัดเจนจากสภาพรรค[7] ผู้นำของเมนเชวิค จอร์จี เปลฮานอฟ เรียกร้องให้แยกตัวออกจากบอลเชวิค ผู้ร่วมงานของเปลฮานอฟ จูลีอุส มาร์ตอฟ เรียกศูนย์บอลเชวิคว่าเป็นอะไรสักอย่างระหว่างคณะกรรมการกลางมุ้งลับและแก๊งอาชญากร[7] คณะกรรมการติฟลิสของพรรคได้ขับสมาชิกพรรคหลายคน รวมทั้งสตาลิน จากการปล้นดังกล่าว และสมาชิกพรรคหลายคนได้สืบสวนเลนินและคนอื่น ๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว[62][63] อย่างไรก็ตาม การสืบสวนภายในเหล่านี้ได้ถูกยับยั้งโดยบอลเชวิค ซึ่งทำให้ผู้สืบสวนไม่สามารถบรรลุเป้าหมายใด ๆ ได้[7]

การปล้นดังกล่าวทำให้บอลเชวิคยิ่งเสื่อมความนิยมในสังคมจอร์เจียมากยิ่งขึ้นไปอีก และทิ้งให้สมาชิกบอลเชวิคในติฟลิสไร้ซึ่งผู้นำที่มีประสิทธิผล หลังจากการปล้นและการเสียชีวิตของภรรยาในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1907 สตาลินเดินทางกลับไปติฟลิสน้อยครั้งมาก ส่วนผู้นำบอลเชวิคคนอื่น ๆ ในจอร์เจีย อย่างเช่น มิฮาอิล ซฮาคายา และฟิลิปป์ มาฮารัดเซ ได้ตามรอยเดียวกันและอาศัยอยู่นอกประเทศจอร์เจียเป็นส่วนใหญ่นับตั้งแต่ ค.ศ. 1907 ส่วนบุคคลสำคัญอื่น ๆ ในหมู่บอลเชวิคติฟลิส สเตฟาน ชาฮุมยันย้ายไปยังบาคู ซึ่งทำให้เมนเชวิคจอร์เจีย พรรคคู่แข่งที่นิยมสังคมประชาธิปไตย ไม่มีคู่แข่งตัวฉกาจอีกต่อไป ต่อมาเมนเชวิคได้ปกครองจอร์เจียระหว่างที่ได้รับเอกราชช่วงสั้น ๆ ตั้งแต่ ค.ศ. 1918 ถึง 1921[64]

นอกเหนือจากผลร้ายที่เกิดขึ้นภายในพรรค การปล้นยังทำให้ศูนย์บอลเชวิคไม่เป็นที่นิยมในกลุ่มสังคมประชาธิปไตยทั่วทวีปยุโรป[7] ความต้องการของเลนินที่จะอยู่ห่างจากผลกระทบของการปล้นอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุของความแตกร้าวระหว่างเขากับบอกดานอฟและคราซิน[7] ผลที่ตามมาคือ สตาลินแยกตัวออกจากแก๊งของคาโมและไม่ประกาศบทบาทของตนในการปล้นอีกเลย[62][65]

หลังการปฏิวัติรัสเซีย ค.ศ. 1917 บอลเชวิคหลายคนที่มีส่วนในการปล้นได้รับอำนาจทางการเมืองในสหภาพโซเวียตซึ่งเพิ่งจะถูกตั้งใหม่ เลนินกลายมาเป็นผู้นำคนแรกของสหภาพโซเวียต หลังจากถึงแก่อสัญกรรมใน ค.ศ. 1924 สตาลินได้สืบทอดตำแหน่งผู้นำสหภาพโซเวียตจนกระทั่งเขาถึงแก่อสัญกรรมใน ค.ศ. 1953 มาซิม ลิตวินอฟได้เป็นเจ้าหน้าที่การทูตของโซเวียต และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (1930-39) เลโอนิด คราซินแต่เดิมเคยไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองหลังจากแตกแยกกับเลนินใน ค.ศ. 1909 แต่ภายหลังได้กลับเข้าร่วมกับบอลเชวิคอีกครั้งหนึ่งหลังการปฏิวัติและได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีการค้าต่างประเทศ

อเล็กซานเดอร์ บอกดานอฟ และคาโมได้รับความสำคัญน้อยกว่า บอกดานอฟถูกขับออกจากพรรคใน ค.ศ. 1909 เนื่องมาจากการแสดงออกซึ่งความแตกต่างทางปรัชญา หลังจากการปฏิวัติบอลเชวิค เขากลายมาเป็นผู้นำนักลัทธิโปรเลตคุลท์ องค์การซึ่งออกแบบมาเพื่อสนับสนุนวัฒนธรรมชนชั้นกรรมาชีพใหม่ คาโม หลังจากถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำและการก่อตั้งสหภาพโซเวียต ทำงานในสำนักงานศุลกากรโซเวียต บางส่วนเป็นเพราะเขามีจิตใจไม่มั่นคงเกินกว่าจะทำงานเป็นตำรวจลับได้[38] คาโมเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนใน ค.ศ. 1922 เมื่อรถบรรทุกชนเขาขณะที่กำลังปั่นจักรยานอยู่[38] ถึงแม้ว่าจะไม่มีหลักฐานพิสูจน์ แต่บางคนตั้งทฤษฎีว่าการเสียชีวิตของคาโมไม่ใช่อุบัติเหตุ แต่เป็นคำสั่งตายของสตาลิน[66][67]

จัตุรัสเยเรวาน ที่ซึ่งเกิดการปล้นขึ้น ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นจัตุรัสเลนินโดยทางการโซเวียตใน ค.ศ. 1921 และรูปปั้นเลนินขนาดใหญ่ถูกตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติใน ค.ศ. 1956[68][69] ยิ่งไปกว่านั้น คาโม ชายผู้ซึ่งถูกพิพากษาว่ามีความผิดและถูกตัดสินประหารชีวิตจากการปล้นในจัตุรัสนั้น ร่างถูกฝังและมีการตั้งอนุสาวรีย์ขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่เขาในสวนปุสกิน ใกล้กับจัตุรัสเยเรวาน[62][70] อนุสาวรีย์ของคาโมในภายหลังถูกย้ายออกไปในสมัยสตาลินและร่างของเขาถูกย้ายไปที่อื่น[67] อนุสาวรีย์เลนินถูกทลายลงในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1991 ในช่วงเดือนสุดท้ายของสหภาพโซเวียต และแทนที่ด้วยอนุสาวรีย์เสรีภาพเมื่อ ค.ศ. 2006 ชื่อของจัตุรัสถูกเปลี่ยนจากจัตุรัสเลนินเป็นจัตุรัสเสรีภาพใน ค.ศ. 1991[68][71]

เชิงอรรถ แก้

  • a แหล่งข้อมูลบางแหล่งระบุว่าการปล้นเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน ค.ศ. 1907[5][27] ขณะที่แหล่งข้อมูลอื่นระบุว่าการปล้นเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ค.ศ. 1907[25][72] ความคลาดเคลื่อนนี้เป็นเพราะว่าบางแหล่งได้ระบุวันที่ตามปฏิทินจูเลียนแบบเก่า ในขณะที่แหล่งข้อมูลบางแหล่งได้ใช้ตามปฏิทินเกรโกเรียน รัฐบาลรัสเซียได้ใช้ปฏิทินจูเลียนจนกระทั่งเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1918 เมื่อได้มีการเปลี่ยนไปใช้ปฏิทินเกรโกเรียน ซึ่งปีนั้นวันต่อจากวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1918 จะเป็นวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1918[73] สำหรับจุดประสงค์ของบทความนี้ วันที่จะถูกระบุตามปฏิทินเกรโกเรียน

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 Kun 2003, p. 75
  2. 2.0 2.1 Trotsky 2009, Chapter IV: The period of reaction
  3. Geifman, Anna (1993). Thou Shalt Kill: Revolutionary Terrorism in Russia, 1894-1917. Princeton University Press, Princeton, NJ. ISBN 0691087784. สืบค้นเมื่อ 2010-12-23.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 Sebag-Montefiore 2008, pp. 3–4
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 5.5 5.6 5.7 Brackman 2000, p. 58
  6. 6.0 6.1 6.2 Ulam 1998, pp. 262–263
  7. 7.00 7.01 7.02 7.03 7.04 7.05 7.06 7.07 7.08 7.09 7.10 7.11 7.12 7.13 7.14 7.15 7.16 Nicolaevsky, Boris (1995). On the history of the Bolshevist Center, in: Secret pages of history, Ed. Yu. G. Felshtinsky. Humanities Publishing, Moscow, 1995. ISBN 5-87121-007-4. สืบค้นเมื่อ 2010-12-10.
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 Souvarine 2005, pp. 94
  9. Souvarine 2005, pp. 91–92
  10. Sebag-Montefiore 2008, pp. 4–5
  11. 11.0 11.1 11.2 11.3 11.4 11.5 11.6 11.7 Sebag-Montefiore 2008, pp. 6–7
  12. 12.0 12.1 12.2 12.3 Sebag-Montefiore 2008, p. 4
  13. 13.0 13.1 Sebag-Montefiore 2008, p. 165
  14. 14.0 14.1 14.2 14.3 14.4 14.5 14.6 14.7 14.8 Sebag-Montefiore 2008, p. 11
  15. 15.0 15.1 15.2 Kun 2003, pp. 77–78
  16. 16.0 16.1 16.2 16.3 16.4 16.5 16.6 16.7 16.8 Sebag-Montefiore 2008, p. 8
  17. Sebag-Montefiore 2008, p. 178
  18. 18.0 18.1 18.2 18.3 18.4 18.5 18.6 Brackman 2000, p. 60
  19. 19.0 19.1 Shub 1960, p. 231
  20. Sebag-Montefiore 2008, p. 5
  21. 21.00 21.01 21.02 21.03 21.04 21.05 21.06 21.07 21.08 21.09 21.10 21.11 21.12 21.13 21.14 21.15 21.16 21.17 Brackman 2000, p. 59
  22. Brackman 2000, pp. 58–59
  23. Sebag-Montefiore 2008, p. 127
  24. Kun 2003, p. 76
  25. 25.0 25.1 25.2 25.3 25.4 "BOMB KILLS MANY; $170,000 CAPTURED". The New York Times. The New York Times. 1907-06-27. สืบค้นเมื่อ 2010-11-30.
  26. 26.0 26.1 26.2 26.3 Sebag-Montefiore 2008, p. 9
  27. 27.0 27.1 Shub 1960, p. 227
  28. 28.00 28.01 28.02 28.03 28.04 28.05 28.06 28.07 28.08 28.09 Sebag-Montefiore 2008, p. 13
  29. 29.0 29.1 29.2 29.3 29.4 29.5 29.6 29.7 29.8 Sebag-Montefiore 2008, p. 12
  30. 30.00 30.01 30.02 30.03 30.04 30.05 30.06 30.07 30.08 30.09 30.10 Sebag-Montefiore 2008, p. 14
  31. 31.0 31.1 Kun 2003, pp. 73–75
  32. Был ли Сталин агентом охранки? (Was Stalin an Okhrana agent?) A collection of publications and documents - Compiled and edited by Yuri Felshtinsky, ed., in Russian. Terra. 1999. ISBN 5-300-02417-1. สืบค้นเมื่อ 2010-12-19.
  33. Sebag-Montefiore 2008, pp. 14, 87
  34. Brackman 2000, p. 61
  35. 35.0 35.1 35.2 35.3 35.4 35.5 Brackman 2000, p. 62
  36. 36.0 36.1 36.2 Krupskaya 1970, Chapter:Again Abroad – End of 1907
  37. Sebag-Montefiore 2008, p. 181
  38. 38.0 38.1 38.2 38.3 38.4 38.5 38.6 38.7 38.8 Ulam 1998, pp. 279–280
  39. 39.0 39.1 Brackman 2000, p. 64
  40. 40.0 40.1 "Held As Tiflis Robbers". The New York Times. The New York Times. 1908-01-19. สืบค้นเมื่อ 2010-11-30.
  41. 41.0 41.1 41.2 41.3 41.4 Brackman 2000, pp. 63–64
  42. "Alleged Nihilists Arrested In Paris; Russian Students, Man and Woman, Suspected of Many Political Crimes. LIVED IN LATIN QUARTER Their Rooms Rendezvous for Revolutionists – Believed That They Planned Assassinations". The New York Times. The New York Times. 1908-02-08. สืบค้นเมื่อ 2010-12-02.
  43. Krupskaya 1970, Chapter:Years of Reaction – Geneva – 1908
  44. 44.0 44.1 44.2 44.3 Krupskaya 1970, Chapter:Paris – 1909–1910
  45. Souvarine 2005, p. 101
  46. Brackman 2000, p. 55
  47. 47.0 47.1 Souvarine 2005, pp. 101–102
  48. Shub 1960, p. 234
  49. Shub 1960, pp. 236–37
  50. Shub 1960, p. 237
  51. 51.0 51.1 Souvarine 2005, p. 102
  52. 52.0 52.1 52.2 Shub 1960, p. 238
  53. Brackman 2000, pp. 57–58
  54. Shub 1960, p. 239
  55. Brackman 2000, p. 67
  56. Shub 1960, pp. 246−247
  57. Souvarine 2005, pp. 103
  58. 58.0 58.1 Shub 1960, p. 244
  59. Shub 1960, pp. 244–45
  60. Shub 1960, p. 245
  61. Shub 1960, p. 246
  62. 62.0 62.1 62.2 62.3 Sebag-Montefiore 2008, p. 15
  63. Souvarine 2005, p. 99
  64. Stephen F. Jones 2005, pp. 220–221
  65. Kun 2003, p. 77
  66. Brackman 2000, p. 33
  67. 67.0 67.1 Sebag-Montefiore 2008, p. 370
  68. 68.0 68.1 Burford 2008, p. 113
  69. "Communist Purge of Security Chiefs Continues". The Sydney Morning Herald. Fairfax Media. AAP. 1953-07-17. p. 1. สืบค้นเมื่อ 2010-12-02.[ลิงก์เสีย]
  70. "USSR information bulletin". USSR information bulletin. 6 (52–67): 15. 1946. สืบค้นเมื่อ 2010-12-03.
  71. Remnick, David (1990-07-05). "The Day Lenin Fell On His Face; In Moscow, the Icons Of Communism Are Toppling". The Washington Post. The Washington Post. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-11-04. สืบค้นเมื่อ 2010-12-02.
  72. Sebag-Montefiore 2008, p. 3
  73. Christian 1997, p. 6

บรรณานุกรม แก้