การทดลองมาร์ชแมลโลว์สแตนฟอร์ด

การทดลองมาร์ชแมลโลว์สแตนฟอร์ด เป็นการศึกษาถึงการให้ความพึงพอใจในภายหลัง การทดลองดังกล่าวดำเนินการในปี ค.ศ. 1972 โดยนักจิตวิทยา วอลเตอร์ มิสเชลจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด[1] ได้มีการจัดทำการทดลองในลักษณะดังกล่าวอีกหลายครั้งนับตั้งแต่นั้น และการศึกษาดั้งเดิมที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด "ได้รับการพิจารณาว่าเป็นหนึ่งในการทดลองด้านพฤติกรรมที่ประสบความสำเร็จที่สุด"[2]

ในการศึกษา เด็กแต่ละคนจะได้รับมาร์ชแมลโลว์ ถ้าหากเด็กคนใดสามารถยับยั้งความอยากที่จะรับประทานมาร์ชแมลโลว์ได้ เด็กคนนั้นก็จะได้รับมาร์ชแมลโลว์เพิ่มเป็นสองชิ้นแทนที่จะเป็นชิ้นเดียว นักวิทยาศาสตร์ได้วิเคราะห์ถึงระยะเวลาที่เด็กแต่ละคนสามารถยับยั้งสิ่งล่อใจในการรับประทานมาร์ชแมลโลว์ได้ และความยับยั้งดังกล่าวมีผลกระทบอย่างไรต่อความสำเร็จในอนาคตของพวกเขา[3] ผลการศึกษาได้ทำให้นักวิจัยมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ต่อจิตวิทยาการควบคุมตนเอง

การทดลองดั้งเดิม แก้

จุดกำเนิด แก้

การทดลองในลักษณะดังกล่าวมีที่มาจากการทดลองในลักษณะคล้ายกันในตรินิแดด ซึ่งมิสเชลได้ค้นพบว่ากลุ่มชาติพันธุ์ที่แตกต่างกันที่อาศัยอยู่บนเกาะมีสามัญทัศน์ที่ขัดแย้งกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การรับรู้ความประมาทเลินเล่อของผู้อื่น การควบคุมตนเองและความสามารถที่จะสนุกสนาน[3] เขาได้ทำการทดลองในลักษณะที่คล้ายกับการทดลองมาร์ชแมลโลว์ หากแต่ใช้แท่งช็อกโกแลตแทน และค้นพบว่าลักษณะทางเชื้อชาติไม่มีผลกระทบต่อการให้ความพึงพอใจในภายหลังแต่อย่างใด ในขณะที่ภูมิหลังทางสังคมและเศรษฐกิจกลับเข้ามามีบทบาท[3]

การทดลอง แก้

จุดประสงค์ของการทดลองดั้งเดิม เพื่อทำความเข้าใจเมื่อเด็กมีพัฒนาการของการให้ความพึงพอใจในภายหลัง ซึ่งเป็นความสามารถที่จะรอเพื่อที่จะได้รับในสิ่งที่บุคคลหนึ่งต้องการ[4] การทดลองดังกล่าวมีขึ้นในโรงเรียนอนุบาลบิง ในมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด โดยใช้เด็กอายุระหว่างสี่ถึงหกปีเป็นตัวอย่าง เด็กจะถูกนำตัวเข้าไปในห้องโดยจัดไม่ให้มีสิ่งที่อาจทำให้เกิดความไขว้เขวทั้งสิ้น เด็กจะถูกถามให้เลือกระหว่างคุกกี้โอรีโอ มาร์ชแมลโลว์ หรือขนมปังเพรตเซลแท่ง ซึ่งจะถูกวางไว้บนโต๊ะข้างเก้าอี้[3] นักวิจัยบอกให้เด็กสามารถรับประทานมาร์ชแมลโลว์ได้ แต่ถ้าหากเด็กคนดังกล่าวสามารถอดทนรอไม่รับประทานได้เป็นเวลาสิบห้านาที เด็กคนนั้นจะได้รับรางวัลเป็นมาร์ชแมลโลว์อีกชิ้นหนึ่ง[5] มิสเชลได้สังเกตว่าบางคน "ปิดตาของตัวเองด้วยมือหรือหมุนตัวไปทางอื่นเพื่อที่พวกเขาจะได้มองไม่เห็นถาดอาหาร ส่วนหนึ่งเริ่มต้นเตะโต๊ะ หรือดึงหางเปียของตัวเอง หรือสัมผัสมาร์ชแมลโลว์ราวกับว่ามันเป็นสัตว์สตัฟฟ์ตัวเล็ก ๆ" ในขณะที่มีส่วนน้อยที่กินมาร์ชแมลโลว์ในทันทีที่นักวิจัยได้จากไป[3]

ผลการศึกษา แก้

ขณะที่มีเด็กจำนวนน้อยที่รับประทานมาร์ชแมลโลว์ในทันที หนึ่งในสามของเด็กที่เข้าร่วมการทดลองทั้งสิ้น 600 คน สามารถอดทนได้นานพอที่จะได้รับมาร์ชแมลโลว์ชิ้นที่สอง[5] การทดลองดังกล่าวได้ยืนยันข้อสันนิษฐานที่ว่าอายุสามารถชี้วัดพัฒนาการของการให้ความพึงพอใจในภายหลังได้

การทดลองในภายหลัง แก้

ผลการทดลองในภายหลังที่เกิดขึ้นอีกหลายปีถัดมา ได้สร้างความประหลาดใจให้แก่มิสเซล เนื่องจากบุตรสาวของมิสเชลทราบและเติบโตขึ้นพร้อมกับหนึ่งในเด็กกลุ่มทดลองดั้งเดิม โดยทราบจากการสนทนาโดยบังเอิญ มิสเซลได้ค้นพบว่ามีความสัมพันธ์กันที่ไม่คาดคิดมาก่อนเกิดขึ้นระหว่างผลการทดลองมาร์ชแมลโลว์ และความสำเร็จของเด็กในอีกหลายปีถัดมา[4] การศึกษาในภายหลังครั้งแรก ในปี ค.ศ. 1988 แสดงให้เห็นว่า "เด็กก่อนวัยเรียนผู้ซึ่งมีการให้ความพึงพอใจในภายหลังนานกว่าในกระบวนทัศน์ยับยั้งควบคุมตัวเอง ได้รับการอธิบายในอีกมากกว่า 10 ปีให้หลังโดยผู้ปกครองของพวกเขา ว่าเด็กเหล่านี้ได้กลายมาเป็นวัยรุ่นที่มีความสามารถอย่างมาก" การทดลองในภายหลังครั้งที่สองในปี ค.ศ. 1990 ได้แสดงให้เห็นว่าความสามารถของการให้ความพึงพอใจในภายหลังยังได้มีความสัมพันธ์กับคะแนนสอบ SAT ที่สูงขึ้นด้วย[1]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 Shoda, Yuichi; Mischel, Walter; Peake, Philip K. (1990). "Predicting Adolescent Cognitive and Self-Regulatory Competencies from Preschool Delay of Gratification: Identifying Diagnostic Conditions" (PDF). Developmental Psychology. 26 (6): 978–986. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-08-13. สืบค้นเมื่อ 2022-01-12.
  2. Camber, Rebecca (November 2, 2008). "Marshmallow test - how resisting a sweet can lead to a better life". Daily Mail. สืบค้นเมื่อ November 10, 2010.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 Lehrer, Jonah (May 18, 2009). "Don't! The secret of self-control". New Yorker. สืบค้นเมื่อ November 10, 2010.
  4. 4.0 4.1 Shockey, Andrew (November 4, 2010). "Shockingly Simple: Marshmallows might have everything to do with success". The Daily Reveille. สืบค้นเมื่อ November 10, 2010.[ลิงก์เสีย]
  5. 5.0 5.1 Mitchell, Alanna (November 2, 2009). "Part 3: How a marshmallow can predict your future". Toronto Star. สืบค้นเมื่อ November 10, 2010.