การกล่อมเกลาทางการเมือง

การกล่อมเกลาทางการเมือง หรือ การเรียนรู้ทางการเมือง หรือสังคมประกิตทางการเมือง นั้น เป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจศึกษากันมานานแล้ว ในยุคที่รัฐศาสตร์ได้รับความสนใจศึกษาในเชิงปรัชญา นักปรัชญาการเมืองบอกว่า การกล่อมเกลาทางการเมือง เป็นการเตรียมความพร้อมของบุคคลสำหรับความเป็นพลเมือง (Citizenship) ในแบบที่พึงปรารถนาของรัฐ

ในบทสนทนา (Dialoque) เรื่อง “อุตมรัฐ” หรือ “The Republic” ของ เพลโต้ (Plato) นักปรัชญาการเมืองสมัยกรีกโบราณ ซึ่งเป็นบทสนทนาหนึ่งห้าเรื่องที่มีชื่อเสียงที่สุดของเพลโต้ (Plato’ s Great Five Dialoques) มีข้อความที่กล่าวถึงการให้การศึกษาและการให้ประสบการณ์แก่เด็กในนครรัฐว่าเป็นช่องทางหรือวิธีการสร้างค่านิยมความเป็นพลเมืองที่เหมาะสม เพลโต้จึงได้วางโครงการฝึกอบรมคน เพื่อให้เป็นพลเมืองที่มีค่านิยมและมีความโน้มเอียงพื้นฐานที่สอดคล้องกับบทบาทที่เขาจะมีส่วนร่วมในนครรัฐ ซึ่งจะเป็นบทบาทที่แตกต่างกันไป

เพลโต้ อธิบายว่า ค่านิยมของพลเมืองนั้น มีความเกี่ยวข้องกับเสถียรภาพและความเป็นระเบียบของสถาบันทางการเมืองด้วย ในทำนองเดียวกัน อริสโตเติล (Aristotle) ศิษย์เอกจากสำนักวิชาการอะแคเดมี่ (Academy) ของเพลโต้ กล่าวเน้นว่า กระบวนการให้การศึกษาทางการเมือง (Political Education) เป็นกระบวนการสร้างค่านิยมและความโน้มเอียงทางการเมือง (Dawson and Prewitt 1969, 6-7)

นักวิชาการทางรัฐศาสตร์ ได้กล่าวถึงความหมายของการกล่อมเกลาทางการเมืองไว้หลายท่าน ขอยกตัวอย่างมากล่าวถึงโดยสังเขปได้แก่

อัลมอนด์และเพาเวลล์ ได้ให้ความหมายไว้ว่า การกล่อมเกลาทางการเมือง เป็นการนำมาซึ่งวัฒนธรรมทางการเมืองแก่ประชาชนในระบบการเมือง (Almond and Powell 1966, 64) โดยเป็นกระบวนการสร้างและการถ่ายทอดวัฒนธรรมทางการเมือง การกล่อมเกลาทางการเมืองจากคนรุ่นไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง หรือทำให้เกิดการถ่ายทอดวัฒนธรรมทางการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่งของระบบการเมือง ที่ได้รับจากประสบการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลา (Almond and Powell 1980, 36) ซึ่งจะช่วยรักษาวัฒนธรรมทางการเมืองเดิมเอาไว้ หรือนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงไปจากวัฒนธรรมทางการเมืองเดิม หรือก่อให้เกิดการก่อตัวของวัฒนธรรมทางการเมืองใหม่ขึ้นมาก็ได้ ในเชิงการวิเคราะห์ระบบการเมืองกระบวนการเรียนรู้หรือการกล่อมเกลาทางการเมืองนี้ ในทัศนะของแอลมอนด์ จัดเป็นหน้าที่หนึ่งในระบบการเมืองตามตัวแบบการวิเคราะห์เชิงโครงสร้าง-หน้าที่ (Structural-Functional Approach ) โดยเป็นหน้าที่นำเข้าสู่ระบบการเมือง หรือ Input Functions ซึ่งทำหน้าที่บำรุงรักษาระบบให้คงอยู่ ตามตัวแบบนี้ แอลมอนด์ตั้งสมมติฐานว่า ในแต่ละระบบการเมือง จะมีการสืบทอดวัฒนธรรมและโครงสร้างของระบบการเมืองยู่ตลอดเวลา และการสืบทอดดังกล่าวนี้ เป็นไปได้ด้วยกระบวนการกล่อมเกลาทางการเมือง

อีสตันและเดนนิส (Easton and Dennis 1969, 7 ) อธิบายว่า การกล่อมเกลาทางการเมือง เป็นวิธีการที่สังคมส่งผ่านความโน้มเอียงทางการเมือง อันได้แก่ ความรู้ ทัศนคติ ปทัสถาน และค่านิยม จากคนรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง ซึ่งถ้าไม่มีกระบวนการถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ สมาชิกใหม่ของระบบการเมืองซึ่งได้แก่ เด็ก ๆ ก็จะต้องแสวงหารูปแบบความโน้มเอียงเรื่องที่เกี่ยวกับการเมืองใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา อันจะย่อมมีผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบการเมือง

กระบวนการกล่อมเกลาทางการเมือง แก้

การที่มนุษย์สามารถเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ ในสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปกครอง การเมือง สังคม เศรษฐกิจ การศึกษาและอื่น ๆ ซึ่งเมื่อมนุษย์ได้รับรู้เข้าใจแล้ว จะเกิดความคิด ความเชื่อ ทัศนคติ ค่านิยม เกี่ยวกับสิ่งเหล่านั้น การเรียนรู้นี้ จะเกิดขึ้นเป็นขั้นเป็นตอน เรียกว่า “กระบวนการ”

แอลมอนด์ และเพาเวล (Almond and Powell , 1966) เสนอว่า กระบวนการกล่อมเกลาทางการเมือง คือ กระบวนการถ่ายทอดวัฒนธรรมทางการเมืองแก่ประชาชน หรือส่งผ่านวัฒนธรรมทางการเมือง กระบวนการสังคมประกิตทางการเมือง ช่วยผดุงวัฒนธรรมทางการเมืองเดิมไว้ โดยส่งผ่านจากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่ง และในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคมย่างรวดเร็ว ฉับพลัน เช่น เกิดการปฏิวัติ กระบวนการสังคมประกิตทางการเมืองก็สร้างวัฒนธรรมทางการเมืองที่ไม่เคยมีมาก่อนขึ้นมาใหม่ได้

แลงตัน (Langton, 1969) สรุปอย่างกว้างๆ ว่า กระบวนการกล่อมเกลาทางการเมืองเป็นกระบวนการที่เกี่ยวกับวิถีทางของการสืบทอดวัฒนธรรมทางการเมือง ภายในสังคมหนึ่งๆ จากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่ง เป็นกระบวนการของการสืบทอด ที่ดำเนินการผ่านตัวการต่างๆ ของสังคม ซึ่งจะทำให้แต่ละคนได้เรียนรู้ ในอันที่จะกำหนดรูปแบบความสัมพันธ์ของตนกับการเมืองให้เหมาะสม

รัชและอัลธอฟ (Rush and Althoff 1971, 16) กล่าวว่า การกล่อมเกลาทางการเมืองเป็นการที่บุคคลได้รู้ว่าเยาอยู่ในระบบการเมืองและมีการรับรู้ (Perception) และปฏิกิริยา (Reaction) ต่อปรากฏการณ์ทางการเมือง โดยเกิดขึ้นมาจากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมในสังคมที่บุคคลนั้นเป็นสมาชิกอยู่ นอกจากนี้ ยังเกิดขึ้นมาจากปฏิสัมพันธ์ (Interrelation) ของบุคลิกภาพและประสบการณ์ของบุคคลด้วย

หากพิจารณานิยามของคำว่าการกล่อมเกลาทางการเมืองของอีสตันและเดนนิส (Easton and Dennis 1969, 7) เช่นที่ได้กล่าวถึงไปแล้ว กระบวนการการกล่อมเกลาทางการเมือง ก็ย่อมหมายถึง กระบวนการที่สังคมส่งผ่านความโน้มเอียงทางการเมือง อันได้แก่ ความรู้ ทัศนคติ ปทัสถาน และค่านิยม จากคนรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง ซึ่งถ้าไม่มีกระบวนการถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ สมาชิกใหม่ของระบบการเมืองซึ่งได้แก่ เด็ก ๆ ก็จะต้องแสวงหารูปแบบความโน้มเอียงเรื่องที่เกี่ยวกับการเมืองใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา อันจะย่อมมีผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบการเมือง และกระบวนการกล่อมเกลาทางการเมืองนี้เอง จะเป็นกระบวนการที่ช่วยรักษาระบบการเมืองให้สามารถดำรงอยู่ได้

ในทัศนะของนักวิชาการไทย ศาตราจารย์ ร้อยเอก ทินพันธุ์ นาคะตะ (Nakata 1975, 88) อธิบายว่า กระบวนการกล่อมเกลาทางการเมืองโดยทั่วไปคือ การพัฒนาพฤติกรรมของบุคคลซึ่งกระทำต่อกัน และเป็นกระบวนการถ่ายทอดทางวัฒนธรรมทางการเมือง แต่ในกระบวนการกล่อมเกลาทางการเมืองทั่วไปนั้น บุคคลจะเรียนรู้ทั้งสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการเมือง และไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองโดยตรง ถึงกระนั้นก็ตาม สิ่งต่างๆเหล่านั้นต่างมีผลต่อทัศนคติ และพฤติกรรมทางการเมืองของบุคคลด้วย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พรศักดิ์ ผ่องแผ้ว ภาคการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสายทิพย์ สุคติพันธ์ (2523) ให้คำจำกัดความว่าเป็นกระบวนการที่บุคคลได้มาซึ่งความโน้มเอียงทางการเมือง (political orientation) ต่าง ๆ อันได้แก่ ความรู้ (knowledge หรือ cognition) ความเชื่อ (beliefs) ทัศนคติ และความรู้สึก (attitudes and feeling) และค่านิยม (values) ที่เกี่ยวกับระบบการเมือง กระบวนการทางการเมือง อำนาจทางการเมืองและบทบาทต่างๆในระบบการเมือง กระบวนการกล่อมเกลาทางการเมืองนี้ อาจเป็นการผดุงรักษาและส่งทอด (maintain and transmit) หรือการแปลงรูป (transform) หรือการสร้าง (create) ความโน้มเอียงทางการเมืองเหล่านั้นก็ได้

จะเห็นได้ว่า คำจำกัดความและทัศนะของนักรัฐศาสตร์เกี่ยวกับกระบวนการกล่อมเกลาทางการเมืองที่ยกมากล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่ามีส่วนร่วมกันหลายประการ ส่วนที่แตกต่างกันไปบ้าง ก็ในประเด็นปลีกย่อย ซึ่งมีลักษณะที่เสริมหรือเพิ่มในรายละเอียดเท่านั้น ซึ่งอาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า กระบวนการกล่อมเกลาทางการเมือง คือ กระบวนการถ่ายทอดความรู้ ความเชื่อ ทัศนคติ หรือความรู้และค่านิยมที่เกี่ยวข้องกับด้านการเมือง จากคนกลุ่มหนึ่งไปยังคนอีกกลุ่มหนึ่ง เป็นการถ่ายทอดโดยผ่านตัวการ (agents) ต่าง ๆ ของสังคม

รูปแบบของการกล่อมเกลาทางการเมือง แก้

กระบวนการกล่อมเกลาทางการเมือง เป็นกระบวนการที่มีอิทธิพลต่อการเกิดแบบแผนเชิงพฤติกรรมที่มีหรือแสดงออกต่อการเมืองของบุคคล อันมีส่วนสร้างบุคลิกภาพและวัฒนธรรมทางการเมือง อันเป็นกระบวนการที่ดำเนินไปตลอดชีวิต ดังที่ได้กล่าวถึงไปบ้างแล้ว ในแง่รูปแบบของการกล่อมเกลาทางการเมืองนั้น ดอว์สัน และพรีวิทท์ (Dawson, and Prewitt 1969, 41-80) กล่าวไว้ว่า การกล่อมเกลาทางการเมืองของบุคคลสามารถจำแนกได้เป็น 2 รูปแบบคือ การกล่อมเกลาทางตรง (Direct Form) เป็นการอบรมกล่อมเกลาหรือถ่ายทอดให้บุคคลเกิดการเรียนรู้ที่มีเนื้อหา (Content) เกี่ยวกับการเมืองโดยเฉพาะ เช่น การเรียนรู้เกี่ยวกับโครงสร้างของรัฐบาล รูปแบบของการปกครองประเทศ ลัทธิทางการเมือง เป็นต้น อีกรูปแบบหนึ่งคือ การกล่อมเกลาทางอ้อม (Indirect Form) ซึ่งเป็นวิธีการที่จะทำให้บุคคลเกิดความโน้มเอียงที่จะเป็นไปในทางการเมือง ด้วยวิธีการเรียนรู้หรืออบรมกล่อมเกลาที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองโดยตรง แต่มีอิทธิพลทำให้เกิดการพัฒนาตัวตนทางการเมือง (Political Self) ของบุคคลได้ การกล่อมเกลาทางการเมืองแบบนี้ จะสร้างทัศนคติที่มีอำนาจทางการเมือง โดยหลักการสำคัญก็คือ ความสัมพันธ์ในวัยเด็กที่มีต่อพ่อแม่ ต่อครู เป็นต้น จะพัฒนาเป็นความคาดหวังต่อผู้มีอำนาจทางการเมืองต่อไปได้

ในทัศนะของ อัลมอนด์และเพาเวลล์ (1980) รูปแบบของการกล่อมเกลาทางการเมืองนั้น จะดำเนินไปใน 2 รูปแบบกล่าวคือ

  1. รูปแบบที่เห็นได้ชัด (Manifest Transmission) การกล่อมเกลาทางการเมืองในรูปแบบนี้ เกิดขึ้นเมื่อกระบวนการกล่อมเกลาหรือการถ่ายทอดนั้น เป็นการสื่อสารที่แสดงออกอย่างชัดเจนในการให้ข้อมูลข่าวสาร ค่านิยม และความรู้สึกต่อวัตถุทางการเมือง อันได้แก่ การสอนเรื่องหน้าที่ทางการเมืองของประชาชนให้แก่นักเรียนในโรงเรียน เป็นต้น
  2. รูปแบบที่แฝงอยู่ (Latent Transmission) ในรูปแบบนี้ เป็นการกล่อมเกลาที่ไม่ใช่ทัศนคติทางการเมือง (Non-political Attitude) แต่มีผลกระทบต่อทัศนคติทางการเมืองของผู้ได้รับการกล่อมเกลาทางการเมืองโดยทางอ้อม ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากประสบการณ์ในวัยเด็ก เช่น เด็กรับเอาทัศนคติในทางก้าวร้าวจากครอบครัว ซึ่งอาจมีแนวโน้มให้เด็กกลายเป็นบุคคลที่มีทัศนคติแบบอำนาจนิยมเมื่อเติบโตขึ้น เป็นต้น

ขั้นตอนของกระบวนการกล่อมเกลาทางการเมือง แก้

พาย (Lucian Pye 1962, 44-48) กล่าวไว้ว่า กระบวนการกล่อมเกลาทางการเมือง มีลำดับขั้นตอนจำแนกได้ 4 ขั้น ดังต่อไปนี้

ขั้นตอนแรก เป็นขั้นมูลฐานเริ่มแรกสุก เมื่อคนเกิดมาจะได้รับการอบรมเป็นช่วงตอนที่ทารกได้รับการฝึกฝนให้เป็นสมาชิกของสังคม ซึ่งเป็นตอนที่เด็กจะเกิดภาวะการเรียนรู้ เกิดทัศนคติ ค่านิยม ความชำนาญ ความสัมพันธ์กับบทบาทต่าง ๆ ของบุคคล ความรู้ทั่วไปและสิ่งต่าง ๆ ที่จำเป็นซึ่งคนในสังคมนั้นจะต้องเรียนรู้ อันเรียกได้ว่าเป็นขั้นของการสร้างความโน้มเอียง (Orientation) ให้บุคคลเข้าสู่ความเป็นมนุษย์ โดยชี้ให้เห็นถึงแนวทางการเรียนรู้วิธีในการดำเนินชีวิตหรือการอยู่ร่วมกันของคนในสังคม

ขั้นตอนที่สอง เป็นขั้นที่ก่อให้เกิดบุคลิกภาพต่อบุคคล อันเป็นประสบการณ์ต่าง ๆ ที่มีอิทธิพลต่อจิตใต้สำนึก ซึ่งจะเป็นผู้กำหนดบุคลิกภาพมูลฐานของบุคคลนั้น ในขั้นตอนนี้ บุคคลจะมีความสำนึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคม หรือที่เรียกว่ามีตัวตน (Identity)

ขั้นตอนที่สาม เป็นขั้นที่บุคคลได้รับการกล่อมเกลาทางการเมือง เป็นขั้นตอนที่บุคคลเริ่มมีความรู้สึก มีความสำนึก ถึงโลกทางการเมืองรอบ ๆ ตัวเขา และได้รู้ รวมทั้งมีทัศนะ กับเข้าใจถึงเหตุการณ์ความเป็นไปทางการเมืองต่าง ๆ ที่เรียกได้ว่าเกิดวัฒนธรรมทางการเมือง ผ่านตัวแทนการกล่อมเกลา (Political Socializing Agents)

ขั้นที่สี่ เป็นขั้นตอนที่บุคคลผ่านจากการเป็นสมาชิกของการเมืองที่ไม่ได้มีกิจกรรม (passive) มาเป็นผู้เข้าร่วมที่มีบทบาททางการเมือง ขั้นตอนนี้เรียกว่า การเลือกสรรทางการเมือง (Political Recriutment) โดยเป็นขั้นตอนที่บุคคลจะมีความเข้าใจต่อการเมืองอย่างลึกซึ้งและมีทัศนคติทางการเมือง หรือที่เรียกว่ามีบุคลิกภาพทางการเมืองอย่างชัดเจนและถาวรขึ้นกว่าเดิม คำแปลศัพท์คำนี้เป็นภาษาไทย มีความแตกต่างกันไปบ้างได้แก่ “กระบวนการสังคมประกิตทางการเมือง” “กระบวนการหล่อหลอมทางการเมือง” หรือ “กระบวนการเรียนรู้ทางการเมือง”

อ้างอิง แก้

  • ปรีชา หงษ์ไกรเลิศ. 2518. ประชาธิปไตยสำหรับคนไทย. กรุงเทพฯ: สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย
  • พรศักดิ์ ผ่องแผ้ว และสายทิพย์ สุคติพันธ์ 2523. การเมืองของเด็ก. กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช
  • Almond, Gabriel A. and Powell, G. Bingham Jr. 1966. Comparative Politics: A Development Approach. Boston : Little, brown & Co.
  • Almond, Gabriel A. and Powell, G. Bingham Jr. 1980. Comparative Politics Today :A World View. Boston : Little, brown & Co.
  • Dawson, Richard E., and Prewitt, Kenneth. 1969. Political Socialization. Boston: Little Brown and Co.
  • Langton, Kenneth P. 1969. Political Socialization . London : Oxford University Press
  • Pye, Lucian. 1962. Politics, Personality, and Nation Building: Burma’ s Search for Identity. New Harven: Yale University Press
  • Rush, Michael, and Althoff, Philip. 1971. Introduction to Political Sociology. Berkeley: Western Printing Press
  • Thinapan Nakata. 1975. The Problem of Democracy in Thailand: A Study of Political Culture and Socialization of College Students . Bangkok : Praepittaya