กะเม็ง

สปีชีส์ของพืช
กะเม็ง
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
ไม่ได้จัดลำดับ: Angiosperms
ไม่ได้จัดลำดับ: Eudicots
ไม่ได้จัดลำดับ: Asterids
อันดับ: Asterales
วงศ์: Asteraceae
สกุล: Eclipta
สปีชีส์: E.  prostrata
ชื่อทวินาม
Eclipta prostrata
(L.) L.
ชื่อพ้อง

Eclipta erecta
Eclipta alba
Verbesina alba
Verbesina prostrata

กะเม็ง (false daisy, white-head ) เป็นพืชสมุนไพรของไทย ถูกนำมาใช้ในด้านการรักษาโรค จะมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามพื้นที่ปลูก กะเม็งตัวเมีย คัดเม็ง (ภาคกลาง) บังกีเช้า (จีน) หญ้าสับ ฮ่อมเกี่ยว (ภาคเหนือ)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ แก้

กะเม็งไม้ล้มลุกลำต้นตั้งตรง สูงประมาณ 30-50 ซม. ลำต้นกลม มีขนแข็งสากมือปกคลุม แตกแขนงมาก ที่โคนต้นอาจมีสีแดงอมม่วงใบ เป็นใบเดี่ยวออกจากลำต้นในลักษณะตรงข้ามเป็นคู่ ใบค่อนข้างแคบเรียวยาว ปลายใบค่อนข้างแหลม ฐานใบมีรอยเว้าและบานออกทั้งสองด้านเล็กน้อย ขอบใบมีรอยหยักเล็กน้อย ไม่มีก้านใบ มีขนสั้นๆ สีขาวปกคลุมทั่วทั้งใบ ขนาดของใบกว้างประมาณ 0.5-2.5 ซม. ยาวประมาณ 3-10 ซม.ดอก ออกเป็นช่อกระจุก ตามซอกใบและตามปลายยอด กลีบดอกสีขาว ดอกย่อยรอบนอกเป็นดอกตัวเมีย ลักษณะเป็นแผ่นสีขาวปลายมน เป็นรูปรางน้ำ ยาวประมาณ 2.5 มม. ก้านดอกเรียวยาว ยาวประมาณ 2-4.5 ซม.ปลายดอกหยักเป็น 2 แฉก มีดอกย่อยที่อยู่ตรงกลางเป็นดอกสมบูรณ์เพศ มีลักษณะคล้ายรูปถ้วย กลีบดอกจะติดกัน โคนดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปท่อยาวประมาณ 2 มม. ส่วนปลายจะหยักเป็น 4 แฉก มีส่วนที่คล้ายกลีบเลี้ยง 5-6 กลีบ สีเขียวรองรับช่อดอก ผล เป็นชนิดอะคีน มีสีเหลืองปนดำ ปลายมีระยางค์เป็นเกล็ดยาวประมาณ 2.5 มม. ขนาดของผลกว้างประมาณ 1.5 มม. ยาวประมาณ 3-3.5 มม.แก่แล้วแตก เมล็ดจะหลุดออก

การขยายพันธุ์ แก้

ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด

แหล่งที่พบ แก้

พบทั่วไปในเขตร้อนและเขตศูนย์สูตร มีการกระจายอย่างกว้างขวางทั่วประเทศอินเดีย,จีน,ไทยและบราซิล ขึ้นตามที่โล่งแจ้งชุ่มชื้นหรือริมคูน้ำ นาข้าวใช้ลำต้น ใบ ดอก รากเป็นยาสมุนไพร[1]

สรรพคุณ แก้

การเก็บกะเม็งมาใช้เป็นยานั้น จะเก็บมาใช้ทั้งต้นในขณะที่ต้นเจริญเต็มที่ กำลังออกดอก เมื่อเก็บมาแล้ว ควรล้างดินออกให้สะอาด หั่นเป็นท่อนหรือชิ้นเล็ก ๆ ตากหรือผึ่งให้แห้ง เก็บไว้ในที่แห้งและเย็น เพื่อใช้เป็นยา ลักษณะของยาแห้งที่ดี ควรมีสีเขียว ไม่มีเชื้อรา และสิ่งอื่นเจือปนสำหรับสรรพคุณทางยาของกะเม็งนั้น มีหลายประการด้วยกัน กะเม็งมีรสเปรี้ยว ชุ่มเย็น ใช้เป็นยาห้ามเลือด บำรุงไต แก้บิด ถ่ายเป็นมูกเลือด แก้ลำไส้อักเสบ ตับอักเสบเรื้อรัง โรคผิวหนังผื่นคันจากการทำนา และรักษาผมหงอกก่อนวัยสารสกัดจากต้นแห้งที่สกัดด้วยไดคลอโรมีเทน บิวทานอล หรือเอทิลอะซีเตตมีฤทธิ์กำจัดอนุมูลอิสระ DPPH[2]

วิธีการใช้ แก้

  1. เป็นยาห้ามเลือด ใช้ต้นสดตำพอกหรือต้นแห้งบดเป็นผงโรยที่แผล
  2. แก้บิดถ่ายเป็นมูกเลือด ใช้ต้นแห้ง 30 กรัม หรือต้นสด 120 กรัมต้มน้ำกินติดต่อกัน 3-4 วัน
  3. แก้โรคผิวหนังผื่นคันจากการทำนา ใช้น้ำคั่นใบสดทาบริเวณมือและเท้า
  4. แก้ผมหงอกก่อนวัย ใช้น้ำคั่นจากต้นเคี่ยวกับน้ำมันงาหรือน้ำมันมะพร้าวทาศีรษะจะทำให้ผมดกดำ และแก้ผมหงอกก่อนวัย[3]

อ้างอิง แก้

  1. สมุนไพรดอตคอม[ลิงก์เสีย]
  2. พจมาน พิศเพียงจันทร์ สรัญญา วัชโรทัย อุไรวรรณ ดิลกคุณานันท์ และ อุดมลักษณ์ สุขอัตตะ. 2554. พฤกษเคมี และการยับยั้งการเกิดออกซิเดชันในเบื้องต้นของกะเม็ง. เรื่องเต็มการประชุมทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 49 1-4 ก.พ. 2554มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หน้า 432-441
  3. http://herbal.pharmacy.psu.ac.th/ ศูนย์สมุนไพรทักษิณ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์