กวี หมายถึง ผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญในศิลปะการประพันธ์บทร้อยกรองในรูปฉันทลักษณ์ อันหมายถึงแบบข้อบังคับสัมผัส วรรคตอน และถ้อยคำให้เรียงร้อยรับกันอย่างเหมาะเจาะไพเราะด้วยจังหวะและน้ำหนักของคำที่กำหนดไว้ โดยทั่วไป อาจจำแนกแบบฉันทลักษณ์ออกเป็น 7 ชนิดด้วยกันคือ โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย ลิลิต และกลบท มักใช้คำนี้ในภาษาแบบแผนหรือภาษาการประพันธ์ในวรรณคดีโบราณ และอาจรวมถึงปัจจุบัน โดยปริยาย..หมายถึง ผู้ชำนาญในการประพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นบทร้อยกรอง หรือวรรณกรรมในรูปแบบอื่น ๆ โดยมีความหมายในเชิงยกย่อง

รากศัพท์ แก้

คำว่า กวี มาจากคำเดิม ในภาษาบาลีและสันสกฤต "กวิ" แปลว่า ผู้คงแก่เรียน ผู้เฉลียวฉลาด ผู้มีปัญญาเปรื่องปราด ผู้ประพันธ์กาพย์กลอน และแปลอย่างอื่น ได้อีก โดยมีรากศัพท์ จาก "กุ" หรือ "กู" ธาตุ แปลว่า "เสียง, ทำให้เกิดเสียง, ร้อง, ร้องระงม, คราง, ร้องเหมือนเสียงนก หรือเสียงแมลงผึ้ง"

ประเภทของกวี แก้

ในทางวรรณคดี มักจะแบ่งเป็นกวีเป็น 4 ประเภท ตามลักษณะการแต่ง คือ

  1. จินตกวี หมายถึง กวีที่แต่งโดยความคิดของตนได้แก่ วรรณคดีประเภทที่เกิดจากจินตนาการของผู้แต่งหรือกวีเอง เช่น เรื่องพระอภัยมณี ของสุนทรภู่ เรื่องมัทนะพาธา ของรัชกาลที่ 6 เรื่องเห็นแก่ลูกของ "พระขรรค์เพชร" เป็นต้น
  2. สุตกวี หมายถึง กวีที่แต่งโดยได้ฟังมา ได้แก่ เรื่องที่แต่งตามที่เล่าสืบกันมา อาทิ เสือโคคำฉันท์ และ สมุทรโฆษคำฉันท์ เป็นต้น
  3. อรรถกวี คือ กวีที่แต่งตามความจริง ได้แก่ เรื่องที่แต่งตามเหตุการณ์หรือหลักความเป็นจริง เช่น เรื่อง ลิลิตยวนพ่ายและลิลิตตะเลงพ่าย เป็นต้น
  4. ปฏิภาณกวี คือ กวีที่แต่งบทกวีได้สดๆ ทันทีโดยไม่ต้องเตรียมมาก่อนได้แก่ เรื่องที่แต่งด้วยไหวพริบที่คิดขึ้นเองโดยทันทีทันใด เช่น โคลงที่ศรีปราชญ์พูดกับนายประตู เป็นต้น


ความหมายอื่นๆ แก้

ในปัจจุบัน คำว่า "กวี" มีความหมายที่กว้างมากขึ้น ไม่เพียงแต่หมายถึงผู้แต่งร้อยกรองเพียงอย่างเดียว หากยังหมายถึง ผู้มีฝีมือในการแต่งวรรณกรรมในรูปแบบอื่นๆ เช่น นวนิยาย เรื่องสั้น วรรณกรรมมุขปาฐะ (แต่งปากเปล่า ด้วยการขับ ร้อง หรือเล่า โดยไม่บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร) เช่น กวีซีไรต์ มีทั้งผู้แต่งร้อยแก้ว และร้อยกรอง ขณะที่เรียกผู้ชำนาญในการแต่งเพลง ว่า คีตกวี

คำศัพท์ที่เกี่ยวกับกวี แก้