กวางผา
กวางผา หรือกวางผาจีน (Naemorhedus griseus) ซึ่งเป็นชนิดที่พบได้ในมณฑลเสฉวนของจีน
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Mammalia
อันดับ: Artiodactyla
วงศ์: Bovidae
วงศ์ย่อย: Caprinae
สกุล: Naemorhedus
Smith, 1827
ชนิดต้นแบบ
Antilope goral
Hardwicke, 1825
ชนิด
ดูในเนื้อหา
ชื่อพ้อง
  • Antilope Pallas, 1766
  • Naemorhaedus
  • Nemorhaedus
  • Nemorhedus
  • Nemorrhedus

กวางผา (อังกฤษ: Gorals) เป็นสกุลของสัตว์กีบคู่จำพวกแอนทีโลปสกุลหนึ่ง ในวงศ์ Bovidae ใช้ชื่อสกุลว่า Naemorhedus

การค้นพบและศัพทมูลวิทยา แก้

กวางผาถูกค้นพบและศึกษาครั้งแรกในทางสัตววิทยา เมื่อปี ค.ศ. 1825 ในแถบเทือกเขาหิมาลัย ประเทศเนปาล มีลักษณะคล้ายแอนทีโลปที่พบในทวีปแอฟริกา จึงได้รับการจำแนกและตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Antilope goral ต่อมาพบว่ามีลักษณะและนิสัยแตกต่างกันเด่นชัด จึงจำแนกออกเป็นสกุลใหม่ในปี ค.ศ. 1827 โดย ชาลส์ แฮมิลตัน สมิท นักธรรมชาติวิทยาและทหารชาวอังกฤษ คือ Naemorhedus[1]

ชื่อสามัญของกวางผาในภาษาอังกฤษคือ "โกราล" (Goral) มาจากภาษาฮินดี (गोरल)[2] ขณะที่ชื่อวิทยาศาสตร์ Naemorhedus คำว่า Naemor มาจากคำว่า "Nemoris" ในภาษาลาติน แปลว่า "ป่า" และ haedus มาจากภาษาลาติน แปลว่า "แพะหนุ่ม" หรือ"แพะตัวผู้"[3]

ลักษณะและพฤติกรรม แก้

กวางผามีรูปร่างคล้ายแพะหรือเลียงผา (Capricornis spp.) ที่มีขนาดเล็ก ซึ่งครั้งหนึ่งเลียงผาเองก็เคยใช้ชื่อสกุลเดียวกับกวางผาด้วย มีเขาสั้น ๆ ทั้งตัวผู้และตัวเมีย เป็นกรวยปลายเรียวแหลมคล้ายกันทั้ง 2 ข้าง ไม่มีการแตกกิ่งเขา เปลือกนอกเป็นปลอกเขาแข็งสวมทับบนแกนเขา ซึ่งเป็นแกนกระดูกที่งอกติดกับกะโหลกศีรษะชิ้นหน้าผาก ตัวเขาเจริญขึ้นตามอายุ และมีชุดเดียวตลอดชีวิต ไม่มีการผลัดเขาเหมือนกวาง

กวางผาไม่มีเคราใต้คางเหมือนแพะรวมทั้งมีขนาดเล็กกว่าเลียงผาเกือบเท่าตัว ขนมีสีอ่อนไม่เข้มเหมือนเลียงผา ขนชั้นนอกเป็นเส้นยาวหยาบ มีขนชั้นในเป็นเส้นละเอียดนุ่ม ซึ่งไม่พบในเลียงผา ระหว่างโคนเขาทั้ง 2 ข้าง ไปถึงหลังใบหูมีกระจุกขนเป็นยอดแหลมสีน้ำตาลเข้มชัดเจน ถัดต่อมาบริเวณหลังและสะโพกมีแผงขนยาวคล้ายอานม้าบาง ๆ สีเทา กลางหลังมีแถบขนสีดำพาดยาวตามแนวสันหลังไปจดโคนหาง หางสั้นเป็นพวงสีเข้มดำ ขนใต้คางและแผ่นอกสีน้ำตาลอ่อน เห็นเป็นแถบลายจาง ๆ บริเวณแผ่นอก สีขนช่วงโคนขาเข้มกว่าช่วงปลายขาลงไปถึงกีบเท้า เขาสั้นสีดำเป็นรูปกรวยแหลม ปลายเขาเรียวแหลมโค้งไปข้างหลังเล็กน้อย โคนเขาใหญ่มีรอยหยักเป็นวง ๆ รอบเขาชัดเจน โดยทั่วไปแล้วสีขนของกวางผาตัวเมียจะอ่อนกว่าตัวผู้ เขาสั้นเล็กและมีรอยหยักรอบโคนเขาไม่ลึกชัดเจนอย่างเขาของตัวผู้ [4]

ทั้งหมดเป็นสัตว์ที่อาศัยและหากินบนที่ราบสูงที่เป็นภูเขาหรือหน้าผาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,000–4,000 เมตร พบกระจายพันธุ์ตั้งแต่เทือกเขาหิมาลัยจรดจนถึงเอเชียตะวันออก มีประชากรบางส่วนลงมาในเอเชียอาคเนย์ด้วย เป็นสัตว์ที่มีกีบเท้าที่แข็งแรงรับน้ำหนักได้ จึงเหมาะกับการกระโดดไปมาและไต่ไปตามหน้าผา เป็นสัตว์ที่มีการระแวดระวังภัยสูง ใช้ประสาทการมองเห็นมากกว่าการดมกลิ่น[5] อีกทั้งยังเป็นสัตว์ที่ว่ายน้ำได้ และว่ายน้ำได้เก่งอีกด้วยซ้ำ เคยมีรายงานว่าสามารถว่ายน้ำข้ามไปมาระหว่างเกาะต่าง ๆ ได้ [6][7]

การจำแนก แก้

ปัจจุบันได้มีการตรวจสอบพิจารณารูปร่างลักษณะและเขตการกระจายพันธุ์ พบว่ากวางผาในบางแหล่งมีความแตกต่างกันเด่นชัด จำแนกได้เป็น 4 ชนิด ได้แก่[1]

หมายเหตุ แก้

อนึ่ง เคยมีเลียงผาอยู่ 2 ชนิด คือ เลียงผาญี่ปุ่น (Capricornis crispus) และ เลียงผาไต้หวัน (C. swinhoei) เคยถูกจัดให้อยู่ในสกุลกวางผาด้วย แต่ปัจจุบันได้ถูกจัดให้อยู่ในสกุลเลียงผา[9]

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 "Naemorhedus". ระบบข้อมูลการจำแนกพันธุ์แบบบูรณาการ. สืบค้นเมื่อ August 8, 2016.
  2. "กวางผา, ม้าเทวดา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-09-30. สืบค้นเมื่อ 2013-10-18.
  3. "สัตว์ปาน่ารู้ เลียงผา". สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้. สืบค้นเมื่อ 22 June 2016.
  4. กวางผา ม้าเทวดาแห่งหุบผาป่าดอยม่อนจอง เก็บถาวร 2015-09-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  5. "'กวางผา' หรือ 'ม้าเทวดา' ณ ดอยม่อนจอง". วอยซ์ทีวี. December 25, 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-09-07. สืบค้นเมื่อ July 12, 2016.
  6. Groves, C. P., and Grubb, P., 1985, Reclassification of the serows and gorals (Nemorhaedus: Bovidae). In The Biology and Management of Mountain Ungulates. Edited by S. Lovari. London: Croom Helm. pp. 45-50.
  7. Article 32.5.1. of International Commission on Zoological Nomenclature reads: "If there is in the original publication itself, without recourse to any external source of information, clear evidence of an inadvertent error, such as a lapsus calami or a copyist's or printer's error, it must be corrected."
  8. [1]กวางผา
  9. Grubb, Peter (16 November 2005). Wilson, Don E., and Reeder, DeeAnn M., eds. ed. Mammal Species of the World (3rd ed.). Baltimore: Johns Hopkins University Press, 2 vols. (2142 pp.). ISBN 978-0-8018-8221-0. OCLC 62265494. http://www.bucknell.edu/msw3/browse.asp?id=14200801 เก็บถาวร 2012-10-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Naemorhedus ที่วิกิสปีชีส์