กลไกป้องกันตน (อังกฤษ: Defence mechanism) เป็นกระบวนการทางจิตซึ่งเกิดขึ้นในบุคคลโดยอัตโนมัติ ส่วนใหญ่นำมาใช้โดยไม่รู้ตัว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการปรับตัว และแก้ปัญหาที่มีอยู่ และรักษาความสมดุลหรือความปกติของ จิตใจไว้ กลไกป้องกันตนเองเป็นวิธีการของจิตใจที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ มักเกิดขึ้นหรือแสดงออกทันทีโดยบุคคลไม่สามารถควบคุมได้ ทั้งนี้เนื่องจากเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ที่จะต้องป้องกันหรือต่อสู้ และปรับตัวเองเพื่อให้ชีวิตอยู่รอด ปลอดภัย มีความสุข เพื่อสามารถรักษาสภาพเดิมของจิตใจไว้ได้

ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) และนักจิตวิทยาในกลุ่มจิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis) เชื่อว่ากลไกป้องกันตนเองเกิดขึ้นในระดับจิตไร้สำนึก (Unconscious mind)

แบบจำลองโครงสร้างจิต อิด อีโก้ และซูเปอร์อีโก้ แก้

ฟรอยด์เปรียบเทียบจิต 3 ระดับเหมือนภูเขาน้ำแข็งในมหาสมุทรโดยยอดภูเขาน้ำแข็งที่โผล่พ้นน้ำคือ จิตสำนึก ภูเขาที่อยู่ผิวน้ำคือ จิตก่อนสำนึก และภูเขาที่อยู่ใต้มหาสมุทรคือ จิตไร้สำนึก นอกจากนี้ตามหลักทฤษฎีของฟรอยด์เชื่อว่าพฤติกรรมต่างๆของบุคคลที่แสดงออกมาเกี่ยวข้องกับการทำงานของจิต 3 ส่วน ซึ่งถือเป็นโครงสร้างหลักของบุคลิกภาพในบุคคล เพราะถ้าการทำงานของจิต 3 ส่วนนี้ สามารถทำงานประสานหรือประนีประนอมกันได้อย่างราบรื่น พฤติกรรมของบุคคลจะแสดงออกมาแบบปกติและเป็นผู้มีสุขภาพจิตดี แต่ถ้าเกิดความขัดแย้งกัน จะมีผลทำให้เกิดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ก่อให้เกิดปัญหาด้านบุคลิกภาพและการปรับตัว ซึ่งพลังจิต 3 ส่วน ได้แก่ อิด (Id) อีโก้ (Ego) ซูเปอร์อีโก้ (Superego)

 
การอุปมาอุปไมยภูเขาน้ำแข็งมักใช้เพื่ออธิบายส่วนของจิต 3 ระดับกับอีกฝ่ายหนึ่ง

คำจำกัดความของโครงสร้างจิตแต่ละชนิด แก้

  • อิด : เป็นแรงผลักดันของจิตใจหรือแรงขับทางสัญชาตญาณ (Instinct Drive) ที่ติดตัวมาแต่กำเนิดกระตุ้นให้มนุษย์ตอบสนองตามความต้องการและความพอใจ ในขณะเดียวกันอิดจะทำหน้าที่ลดความเครียดที่เกิดขึ้น อิด จะยึดหลักของความพอใจ (Pleasure Principles) และเป็นไปเพื่อตอบสนองตามความต้องการโดยไม่คำนึงถึงเหตุผล ความถูกต้องและความเหมาะสมตามความเป็นจริง การทำงานของอิดจะเป็นไปในลักษณะการ ใช้ความคิดในขั้นปฐมภูมิ (Primary Process of Thinking) เช่น เด็กหิวก็จะร้องไห้ทันที เพื่อตอบสนองความต้องการเมื่อบุคคลเติบโตขึ้น อิดจะถูกเก็บลงสู่จิตไร้สำนึก
  • อีโก้ : เป็นพลังที่พัฒนาจากการเรียนรู้โลกตามความเป็นจริงตั้งแต่วัยเด็กเพื่อสนองความต้องการของอิด โดยการนำ ซูเปอร์อีโก้ ให้เข้ามามีส่วนร่วมพิจารณาในการตอบสนองความต้องการ พลังนี้จะรับรู้โลกตามความเป็นจริงแสดงให้เห็นว่า อีโก้ คือหลักแห่งความเป็นจริง (Reality Principle) ดังนั้นจึงพบว่าอีโก้คือตัวบริหารจิตให้เกิดความสมดุล โดยอีโก้จะอยู่ในส่วนของจิตสำนึก

อีโก้ จึงเปรียบเสมือนตัวที่เป็นเหตุเป็นผลชี้นำให้บุคคลมาสู่สภาพการรับรู้ที่เป็นจริง อิดกับอีโก้มีความแตกต่างกันตรงที่ อิดจะรับรู้ความจริงที่ตอบสนองความต้องการเพียงอย่างเดียว แต่การทำงานของอีโก้จะต้องขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงอย่างมีเหตุผล ตัวอย่างเช่น คนที่กระหายน้ำ เมื่อพบแก้วน้ำที่มีน้ำอยู่เต็ม ก็จะยกดื่มทันทีตามแรงผลักดันของอิดเพื่อลดความกระหายน้ำในขณะนั้น แต่ถ้าเขาไม่ยกแก้วน้ำดื่มในทันที เนื่องจากคิดว่าน้ำนั้นอาจสกปรกและมีเชื้อโรค นั่นคือการทำงานของอีโก้ที่มีความคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผลที่เป็นไปตามหลักของความเป็นจริง

  • ซูเปอร์อีโก้ : เป็นพลังทางจิตที่ก่อตัวขึ้นจากการเรียนรู้ระเบียบ กฎเกณฑ์ รวมทั้งศีลธรรมของสังคม เป็นส่วนที่เตือนให้บุคคลรู้ว่าสิ่งใดถูกและสิ่งใดผิด ซึ่งถือได้ว่าซูเปอร์อีโก้คือส่วนของคุณธรรมและจริยธรรม (Moral) ของแต่ละบุคคลและในแต่ละบุคคลจะมีพลังในส่วนของซูเปอร์อีโก้แตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการอบรมเลี้ยงดูและการขัดเกลาทางสังคมที่บุคคลนั้นเติบโตมา ดังนั้นซูเปอร์อีโก้จึงมีอยู่ทั้งในจิตสำนึก จิตก่อนสำนึก และจิตไร้สำนึก

ลักษณะของกลไกการป้องกันตัวเอง แก้

กลไกในระยะเริ่มต้นของการพัฒนา (narcissistic defense) แก้

  1. การปฏิเสธ (denial) คือ การไม่ยอมรับสภาวะทางอารมณ์ ความรู้สึก ความคิด การกระทำหรือสถานการณ์บางอย่างที่มีผลกระทบต่อจิตใจของตนเองอย่างรุนแรง
  2. การบิดเบือน (distortion) คือ การบิดเบือนความจริงบางอย่างที่เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการภายในของตนเอง
  3. การกล่าวโทษผู้อื่น (projection) คือ การกล่าวอ้างความคิด ความรู้สึกหรือความต้องการของตนเองที่ไม่ดีและรับไม่ได้ไปให้คนอื่น เพื่อไม่ให้ตนเองเป็นฝ่ายผิด

อ้างอิง แก้