กลุ่มดาวคนคู่ หรือ กลุ่มดาวมิถุน/เมถุน (♊) เป็นกลุ่มดาวหนึ่งในกลุ่มดาวจักรราศี อยู่ระหว่างกลุ่มดาววัวทางทิศตะวันตก กับกลุ่มดาวปูทางทิศตะวันออก ทางทิศเหนือ คือ กลุ่มดาวสารถีและกลุ่มดาวแมวป่าที่แทบจะมองไม่เห็น ทางทิศใต้ คือ กลุ่มดาวยูนิคอร์นและกลุ่มดาวหมาเล็ก โครงการเจมินีขององค์การนาซา ตั้งชื่อตามกลุ่มดาวนี้

กลุ่มดาวคนคู่ (Gemini)
กลุ่มดาวคนคู่
คลิกเพื่อดูรูปใหญ่
ชื่อย่อ: Gem
ชื่อคุณศัพท์: Geminorum
สัญลักษณ์: แฝด
ไรต์แอสเซนชัน:7 ชั่วโมง
เดคลิเนชัน: 20°
เนื้อที่:514 ตารางองศา (อันดับที่ 30)
จำนวนดาวฤกษ์:
(ความส่องสว่างปรากฏน้อยกว่า 3)
4
ดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุด:ดาวพอลลุกซ์ (β Gem)
(ความส่องสว่างปรากฏ = 1.1)
ฝนดาวตก:ฝนดาวตกคนคู่
ฝนดาวตกโรคนคู่
กลุ่มดาวที่ติดกัน:กลุ่มดาวแมวป่า
กลุ่มดาวสารถี
กลุ่มดาววัว
กลุ่มดาวนายพราน
กลุ่มดาวยูนิคอร์น
กลุ่มดาวหมาเล็ก
กลุ่มดาวปู
มองเห็นได้ในระหว่างละติจูด +90° ถึง −60°
มองเห็นได้ดีที่สุดในเวลา 21.00 น. ของเดือนกุมภาพันธ์

จุดเด่นของกลุ่มดาวคนคู่ คือ ดาวฤกษ์สองดวงอยู่ใกล้กัน ดาวที่อยู่สูงกว่าเรียกว่าดาวคัสตอร์ (α Gem) ดวงล่างเรียกว่าดาวพอลลักซ์ (β Gem)

ประวัติ แก้

กลุ่มดาวคนคู่เป็นกลุ่มดาวจักรราศีลำดับที่สาม (นับจากราศีเมษ) เห็นได้ชัดตั้งแต่เดือนธันวาคม ถึง พฤษภาคม เป็นดาวสำคัญของนักเดินเรือ เพราะเมื่อดวงอาทิตย์เคลื่อนสู่ราศีมิถุน นับเป็นเครื่องหมายของการสิ้นสุดพายุฤดูหนาว เรือออกทะเลได้ บนเรือมักจะมีรูปปั้นและหิ้งบูชาเทพสององค์นี้ เพื่ออธิษฐานให้เดินทางได้ราบรื่น ปราศจากอุปสรรคทั้งปวง ในท่าเรือต่าง ๆ สมัยโบราณ ก็ยังมีรูปปั้นของเทพทั้งสองนี้ ที่สองฝั่งปากทางออกสู่ทะเล

เมื่อ 6,000-4,000 ปีก่อนคริสตกาล ดวงอาทิตย์เคลื่อนสู่ราศีมิถุนในช่วงวสันตวิษุวัต (21 มีนาคม) ราศีนี้จึงมีความสำคัญทั้งทางปฏิทินและทางลัทธิบูชา และในยุคดังกล่าวยังเป็นจุดเริ่มต้นการเกษตร ที่ต้องการปฏิทินที่แม่นยำสูง ในคัมภีร์โบราณอันเก่าแก่ มักวาดรูปเด็กทารกสองคน เป็นสัญลักษณ์ของราศีนี้

ดาวคัสตอร์นั้นเป็นดาวสีขาว ส่วนพอลลุกซ์เป็นดาวสีเหลือง ดาวสองดวงนี้อยู่ห่างกันประมาณ 4.5 องศา นอกจากนี้ในกลุ่มดาวคนคู่ ยังมีดาวความสว่างน้อยอีกหลายดวง เช่น "ดาวอัลเฮนา" (γ Gem), "ดาวอาซาบ" (δ Gem) เป็นต้น และใกล้ ๆ นั้นมีดาราจักรชื่อ M35

ชาวอาหรับเรียกดาวเด่นทั้งสองดวงนี้ว่าดาวฝาแฝดเช่นกัน และยังเรียกว่าดาวนกยูงสองตัวด้วย ส่วนชาวอียิปต์ถือว่าดวงสองดวงนี้คือเทพโฮรุส เป็นเทพเจ้าแห่งดวงตะวัน นับเป็นความเชื่อเก่าแก่มาก ขณะที่ชาวเอสกิโมถือว่าดาวสองดวงนี้เป็นเสาหลักของกระท่อมอิกลูของตน ที่ทำด้วยก้อนน้ำแข็ง

ในตำราดาราศาสตร์ของอินเดีย ระบุถึงนักษัตรที่ห้า ว่า "ปุนรวรสุ" หรือผู้ประเสริฐทั้งสอง ซึ่งอยู่ภายใต้อิทธิพลของนางอทิติ เทพีแห่งห้องฟ้า ซึ่งนางเป็นมารดาของอาทิตย์ทั้ง 12 องค์ที่เวียนกันมาปรากฏในแต่ละเดือน (แต่ละองค์มีชื่อต่างกัน) กำหนดของตำนานนี้ อาจเริ่มต้นขึ้นเมื่อ 4,000 ปีก่อนคริสตกาล เมื่อราศีมิถุนเริ่มเป็นเครื่องหมายของวสันตวิษุวัต

ดาวในกลุ่มดาวนี้ แก้

ดาวที่สำคัญที่สุดในกลุ่มดาวนี้คือดาวพอลลุกซ์และดาวคัสตอร์ซึ่งเป็นส่วนหัวของฝาแฝด โดยดาวคัสตอร์มีความสว่างปรากฏ 1.93 อยู่ห่างจากระบบสุริยะของเราออกไป 52 ปีแสง เป็นดาวขนาดไม่ใหญ่นัก ราวสองเท่าของดวงอาทิตย์ ส่วนดาวพอลลุกซ์ นั้นสว่างกว่า คือ 1.16 และอยู่ห่างออกไปจากระบบสุริยะของเรา 33.7 ปีแสง มีขนาดค่อนข้างใหญ่ คือราว 10 เท่าของดวงอาทิตย์ ดาวทั้งสองมีระยะห่างจากกัน 4.5 องศา ซึ่งช่วยให้ผู้สังเกตประมาณระยะห่างระหว่างดาวอื่น ๆ ได้

สำหรับดาวอิออตา (ι Gem) นั้นเป็นดาวยักษ์ใหญ่ มีขนาดราว 30 เท่าของดวงอาทิตย์ อยู่ไกลจากเราถึง 950 ปีแสง แต่ค่ารวมของความสว่างปรากฏ บ่งบอกว่าอยู่ใกล้กว่านั้นมาก คือราว 190 ปีแสงเท่านั้น อีกดวงหนึ่ง คือ ดาวเซตา (ζ Gem) เป็นดาวที่ไกลที่สุดในบรรดาดาวสว่างของกลุ่มดาวนี้ คือห่างออกไปกว่า 1,200 ปีแสง นับเป็นดาวแปรแสงชนิดหนึ่ง ขณะที่ ดาวเอตา (η Gem) เป็นดาวยักษ์แดง มีขนาดราว 50 เท่าของดวงอาทิตย์ อยู่ห่างออกไป 280 ปีแสง ซึ่งมีลักษณะเป็นดาวคู่และดาวแปรแสงด้วย

วัตถุอื่น ๆ แก้

วัตถุน่าสนใจในกลุ่มดาวนี้ ได้แก่ M35 (NGC 2168) เป็นกระจุกดาวเปิด ที่สังเกตได้ง่ายจากกล้องขนาดเล็ก อยู่ห่างจากดาวเอตาไปทางตะวันตกเฉียงเหนือเพียง 2.5 องศา กระจุกดาวนี้น่าสนใจมาก มีดาวสว่างเป็นแนวโค้งนับร้อย ๆ ดวง อยู่ห่างออกไปราว 2,500 ปีแสง นอกจากนี้ยังมีเนบิวลาชื่อ "เอสกิโม" (NGC 2392) เป็นเนบิวลาที่ไกลกว่า คือประมาณ 10,000 ปีแสง ดาวตรงกลางมีความสว่าง 10 หากมีกล้องที่ใหญ่พอจะสังเกตได้ดี โดยเริ่มจากกล้องขนาดเล็ก จับวัตถุสีฟ้าเขียว แล้วใช้กล้องขนาดใหญ่มากสังเกตด้านหน้าของเนบิวลา ดวงตา จมูก และปาก และคอ ที่ดูคล้ายเอสกิโม