กระเบาใหญ่
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
ไม่ได้จัดลำดับ: Angiosperms
ไม่ได้จัดลำดับ: Eudicots
ไม่ได้จัดลำดับ: Rosids
อันดับ: Malpighiales
วงศ์: Achariaceae
สกุล: Hydnocarpus
สปีชีส์: H.  anthelminticus
ชื่อทวินาม
Hydnocarpus anthelminticus
Pierre ex Laness [1]
ชื่อพ้อง[2]
รายการ
  • Hydnocarpus castanea Hook.f. & Thomson
  • Hydnocarpus castaneus subsp. pseudoverrucosus Sleumer

กระเบาใหญ่ หรือ กระเบา (ชื่อวิทยาศาสตร์: Hydnocarpus anthelminticus) เป็นพืชดอกในวงศ์ Achariaceae แต่เดิมพบในอินโดจีน ปัจจุบันปลูกในจีนตอนใต้ด้วย เป็นหนึ่งในสมุนไพรพื้นฐาน 50 ชนิดที่ใช้ในการแพทย์แผนจีนในชื่อว่า dàfēngzǐ (大风子)[3]

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ แก้

ไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ สูง 10 - 20 ม. ลำต้นเปลา เปลือกแข็งเรียบสีน้ำตาล

ใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปใบหอกแกมรูปไข่ หรือรูปขอบขนาน ปลายสอบเรียว โคนสอบหรือมน เบี้ยวเล็กน้อย ขอบเรียบ เนื้อใบหนา เส้นแขนงใบ และเส้นใบย่อยเห็นได้ชัดทางด้านล่าง [4] ใบอ่อนสีเขียวอ่อนอมเหลืองเป็นมัน ใบกว้าง 3 - 7 ซม. ยาว 10 - 30 ซม. [5][6]

ดอก เป็นช่อ ช่อละ 2 - 3 ดอก สีชมพู มีกลิ่นหอมดอก [5] แยกเพศ อยู่ต่างต้น ดอกเพศผู้ออกเดี่ยวๆ ตามง่ามใบ กลิ่นหอมมาก กลีบเลี้ยง 5 กลีบ มีขนอ่อนนุ่มทั้ง 2 ด้าน กลีบดอก 5 กลีบ สีชมพู เกสรเพศผู้ 5 อัน ดอกเพศเมียออกเป็นช่อสั้นๆ ตามง่ามใบ กลีบเลี้ยงและกลีบดอกเหมือนกับดอกเพศผู้ เกสรเพศผู้ไม่สมบูรณ์ 5 อัน ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น 5 แฉก รังไข่รูปไข่หรือรูปไข่กลับ [4] ดอกบานเต็มที่กว้าง 1.2 - 1.7 เซนติเมตร ก้านดอกยาวประมาณ 2 เซนติเมตร มีขนสั้นๆสีน้ำตาลปกคลุม[5]

ผล กลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 8 - 12 ซม. ผิวเรียบ เปลือกแข็ง มีขนหรือเกล็ดสีน้ำตาล มี 30 - 50 เมล็ด อัดกันแน่น เมล็ดรูปไข่ เบี้ยว ปลายทั้งสองข้างมน [4] ออกดอกและติดผล ระหว่างเดือนธันวาคม – เดือนมีนาคม [5]         

อนุกรมวิธานและการตั้งชื่อ แก้

กระเบาใหญ่ (Hydnocarpus anthelminthicus) ถูกตั้งชื่ออย่างเป็นทางการโดย Pierre ex Laness และได้รับการตีพิมพ์ใน Bulletin de la Société Botanique de France 55: 522 1866 [7] ปัจจุบันได้รับการยืนยันแล้วว่า Hydnocarpus castaneus (มีถิ่นกำเนิดจากประเทศพม่า อินโดจีน คาบสมุทรมลายู และสุมาตรา) เป็นชื่อพ้องของ H. anthelminthicus [8]

กระเบาใหญ่ อยู่ในวงศ์ Achariaceae ชื่ออื่น: กระเบาน้ำ กระเบาแข็ง กระเบาเบ้าแข็ง กาหลง (ภาคกลาง) กระเบา (ทั่วไป) กระเบาตึก กระเบาตึ้ก (เขมร-ตะวันออก) ตัวโฮ่งจี๊ (หรือ ตั่วฮ่วงจี๊ ในภาษาแต้จิ๋ว) เบา (สุราษฎร์ธานี) ยังเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายภายใต้ชื่อ H. anthelminthicus ซึ่งชื่อแสดงคุณลักษณะในการขับพยาธิ (anthelmintic) ในภาษาเวียดนาม ชื่อสามัญคือ lọnồi [9] (บางครั้งเรียก Ðại phong tử ตามทับศัพท์ภาษาจีน) เป็นหนึ่งในสมุนไพรพื้นฐาน 50 ชนิดที่ใช้ในการแพทย์แผนจีนซึ่งเรียกว่า 大风子 (dàfēngzǐ ต้าเฟิงจึ) หรือ 泰国大风子 (tai guo da feng zi ไท้กั๋วต้าเฟิงจึ)


การแพร่กระจายและถิ่นกำเนิด แก้

ขึ้นตามป่าดิบใกล้ริมน้ำ ทางภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ระดับความสูงจากน้ำทะเล 50 - 200 ม. กัมพูชา เวียดนาม และ จีนตอนใต้ในมณฑลกวางสีและมณฑลยูนนาน ที่ระดับความสูงจากน้ำทะเล 300 - 1300 ม. และยังปลูกในมณฑลไหหลำและไต้หวัน

การใช้ประโยชน์ แก้

น้ำมันที่บีบได้จากเมล็ดเรียกว่า น้ำมันกระเบา (Chaulmoogra oil หรือ Hydnocarpus oil) มีส่วนประกอบส่วนใหญ่เป็น chaulmoogric acid และ hydnocarpic acid น้ำมันกระเบานำมาใช้รักษาโรคเรื้อน และโรคผิวหนังอย่างอื่นอีก เช่น โรคเรื้อนกวาง หิด นอกจากนี้ ยังใช้แก้อาการปวดบวมตามข้อ [10]

ผลแก่สุก กินได้ ใช้รับประทานเนื้อในเป็นอาหารคล้ายเผือกต้ม [11]

อ้างอิง แก้

  1. "Hydnocarpus anthelminticus". Germplasm Resources Information Network (GRIN). Agricultural Research Service (ARS), United States Department of Agriculture (USDA). Retrieved 2008-02-09. https://npgsweb.ars-grin.gov/gringlobal/taxonomydetail?19438
  2. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ WCSP
  3. http://www.efloras.org/florataxon.aspx?flora_id=2&taxon_id=242413397
  4. 4.0 4.1 4.2 http://www.rspg.or.th/plants_data/plantdat/flacourt/hanthe_1.htm
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 http://srdi.yru.ac.th/bcqy/page/291/กระเบาใหญ่.html
  6. http://www.qsbg.org/database/botanic_book%20full%20option/search_detail.asp?botanic_id=1095
  7. «Hydnocarpus anthelmintica». Tropicos.org. Missouri Botanical Garden. Consultáu'l 27 de xunu de 2013. http://legacy.tropicos.org/Name/50120563
  8. Plants of the World Online: Hydnocarpus castaneus Hook.f. & Thomson (retrieved 11 June 2020) http://www.plantsoftheworldonline.org/taxon/urn:lsid:ipni.org:names:111741-1
  9. Phạm Hoàng Hộ (1999) Cây Cỏ Việt Nam: an Illustrated Flora of Vietnam vol. I (entry: 2156) publ. Nhà Xuẩt Bản Trẻ, HCMC, VN.
  10. https://www.คลังสมุนไพร.com/16961499/สมุนไพรกระเบาใหญ่
  11. http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_21.htm