กรมอู่ทหารเรือ มีทีตั้งอยู่ที่ถนนอรุณอมรินทร์ แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร เป็นหน่วยงานหนึ่งในสังกัดกองทัพเรือ เดิมชื่อ "อู่เรือหลวง" มีหน้าที่ซ่อมสร้างเรือมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้นได้เริ่มมีเรือกลไฟใช้แล้ว ต่อมามีเรือมากขึ้นและเรือมีขนาดใหญ่ขึ้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดฯ ให้สร้างอู่ไม้ขนาดใหญ่ เสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเปิดเมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2433 ซึ่งถือเป็นวันสถาปนากรมอู่ทหารเรือ นับได้ว่าเป็นหน่วยงานทางช่างลำดับต้น ๆ ของประเทศ กรมอู่ทหารเรือซึ่งเดิมตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงข้ามพระบรมมหาราชวัง เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันได้ย้ายที่ตั้งกองบังคับการ กรมอู่ทหารเรือ ไปอยู่ในพื้นที่อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี โดยมีเจ้ากรมอู่ทหารเรือคนปัจจุบันคือ พลเรือโท[1] ธิติ นาวานุเคราะห์[2]รองเจ้ากรมทหารเรือได้แก่ พลเรือตรี สมบัติ แย้มดอนไพร[3]และ พลเรือตรี ศัลย์ แสวงพานิช​[4]

ตราราขการกรมอู่ทหารเรือ
กรมอู่ทหารเรือ ณ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี
ภาพกรมอู่ทหารเรือจากแม่น้ำเจ้าพระยา
กรมอู่ทหารเรือ ณ กรุงเทพมหานคร

ส่วนราชการ แก้

กรมอู่ทหารเรือ ประกอบด้วยหน่วยย่อยดังนี้

  1. กองบังคับการ
  2. กรมแผนการช่าง
  3. กรมพัฒนาการช่าง
  4. อู่ทหารเรือธนบุรี
  5. อู่ทหารเรือพระจุลจอมเกล้า
  6. อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช
  7. ศูนย์พัสดุช่าง

เรือรบที่กรมอู่ทหารเรือสร้าง แก้

เรือรบที่ต่อโดยกรมอู่ทหารเรือ มีเช่น

  • เรือในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8) มี
    • เรือตรวจการประมง ชุด ร.ล. สารสินธุ, เทียวอุทก และ ตระเวณวารี ระวางขับน้ำ 50 ตัน
    • เรือยามฝั่ง 9 -12 ระวางขับน้ำเต็มที่ 11.25 ตัน
    • เรือบรรทุกน้ำมัน ร.ล. ปรง ระวางขับน้ำ 150 ตัน
  • เรือในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) มี
    • เรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำ ชุด ร.ล. คำรณสินธุ (ลำที่สอง) ระวางขับน้ำ 450 ตัน ต่อในประเทศทั้งสิ้นคือ ร.ล. คำรณสินธุ (ลำที่สอง) และ ร.ล. ทยานชล (ลำที่สอง) ต่อที่อู่อิตัลไทยมารีน ร.ล. ล่องลม (ลำที่สอง) ต่อที่กรมอู่ทหารเรือ
    • เรือตรวจการณ์ (ปืน) ชุด ร.ล. หัวหิน ระวางขับน้ำ 530 ตัน ต่อในประเทศ คือ ร.ล. หัวหิน และ ร.ล. แกลง ต่อที่อู่เอเชียนมารีน เซอร์วิส จำกัด มหาชน ร.ล. ศรีราชา ต่อที่กรมอู่ทหารเรือ
    • เรือตอปิโดเล็ก ชุด ร.ล. สัตหีบ (ลำที่หนึ่ง) ระวางขับน้ำ 110 ตัน ต่อโดยกรมอู่ทหารเรือ เรือชั้นมีเพียงลำเดียว คือ ร.ล. สัตหีบ (ลำที่หนึ่ง)
    • เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ชุด เรือ ต. 91 ระวางขับน้ำ 115 ตัน ต่อโดยกรมอู่ทหารเรือ มี เรือ ต.91, 92, 93, 94, 95, 96, 97, 98, 99
    • เรือกวาดทุ่นระเบิดน้ำตื้น ชุด เรือ ท.1 (ลำที่สอง) ระวางขับน้ำ 29.56 ตัน ต่อโดยกรมอู่ทหารเรือ มี เรือ ท.1 (ลำที่สอง) - เรือ ท.5 (ลำที่สอง)
    • เรือน้ำมัน ชุด ร.ล. เปริด ระวางขับน้ำ 360 ตัน ต่อโดยกรมอู่ทหารเรือ มี ร.ล. เปริด, ร.ล. เสม็ด (ลำที่สอง)
    • เรือน้ำ (ใช้บรรทุกน้ำจืด) ชุด ร.ล. จวง ระวางขับน้ำ 180 ตัน เต็มที่ 360 ตัน ต่อโดยกรมอู่ทหารเรือ มี ร.ล. จวง, ร.ล. จิก
    • เรือลากจูง (เรือ TUG) ชุด ร.ล. แสมสาร (ลำที่สอง) ระวางขับน้ำ 328 ตัน ต่อโดยกรมอู่ทหารเรือ มี ร.ล. แสมสาร, ร.ล. แรด
    • เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง (ชุดเรือ ตกฝ.991, 994) เรือ ต.991 และ ต.994
    • เรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง (เรือ ตกก.) ร.ล.กระบี่
    • เรือตรวจการณ์ปืน (เรือ ตกป.) ร.ล.แหลมสิงห์[5]

อ้างอิง แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

https://www.facebook.com/DockyardRtnd

13°44′58″N 100°29′11″E / 13.749489°N 100.486456°E / 13.749489; 100.486456