กรมที่ดิน

หน่วยงานราชการไทย

กรมที่ดิน (อังกฤษ: Department of Lands) เป็นหน่วยงานระดับกรม สังกัดกระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานที่ดำเนินงานออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินให้ราษฎรและให้บริการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดิน และอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น รวมถึงการจัดที่ทำกินให้ประชาชนตามประมวลกฎหมายที่ดินอีกด้วย ปัจจุบันนาย พรพจน์ เพ็ญพาส เป็นรักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมที่ดิน

กรมที่ดิน
Department of Lands
ตรากรมที่ดิน
ภาพรวมหน่วยงาน
ก่อตั้ง17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2444 (123 ปี)
เขตอำนาจทั่วราชอาณาจักร
สำนักงานใหญ่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาฯ ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10210
งบประมาณประจำปี6,403 ล้านบาท (พ.ศ. 2561)[1]
ฝ่ายบริหารหน่วยงาน
  • พรพจน์ เพ็ญพาส[2], อธิบดี
  • เปลี่ยน แก้วฤทธิ์, รองอธิบดี
  • พนิตาวดี ปราชญ์นคร, รองอธิบดี
  • บุญธรรม หอไพบูลย์สกุล, รองอธิบดี
  • วสันต์ สุภาภา, รองอธิบดี
ต้นสังกัดกระทรวงมหาดไทย
เว็บไซต์http://www.dol.go.th

ประวัติ แก้

ในรัชกาลพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระองค์ทรงดำเนินรัฐประศาสนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของประชาชน โดยให้ราษฏรทำประโยชน์บนที่ดินซึ่งผลประโยชน์จะตกแก่คนๆนั้น

ครั้นมาถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีมีระบบการบริหารประเทศแบบจตุสดมภ์ที่เรียกว่า เวียง วัง คลัง นา ซึ่งเรื่องของที่ดินนี้จัดอยู่ในหมวดหมู่ของ นา หรือ กรมนา นั่นเอง โดยหน้าที่ของกรมนาสมัยนั้น แบ่งออกเป็น 2 หน้าที่ คือ บริหารและตุลาการ

หน้าที่บริหารจะจัดหาที่ดิน โดยให้ราษฏรเข้าไปบุกเบิกที่ดินเปล่าที่รกร้างอยู่และให้ใช้ประกอบการทำกิน โดยเขียนโฉนดไว้ให้แก่ผู้เข้าไปบุกเบิกที่ดินตรงนั้น พร้อมกับหาที่ดินเพื่อการศาสนา สร้างเป็นวัดวาอารามต่าง ๆ

ส่วนหน้าที่ตุลาการจะมีหน้าที่ดูแลการเข้าไปโค่นร้างว่าผู้ใดลักลอบกระทำการให้นำมาลงโทษ อีกทั้งระงับเหตุทะเลาะวิวาทในเรื่องที่ดิน เช่น กรณีแย่งนากันทำ รวมถึงข้อพิพาทเกี่ยวกับการลักเครื่องมือทำนา ขโมยไถ ลักแอก เป็นต้น

ต่อมากรุงรัตนโกสินทร์ลักษณะการบริหารที่ดินส่วนคงยึดหลักเดียวกันไว้

กระทั่งสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เกิดกรณีพิพาทเรื่องกรรมสิทธิ ที่ดินบ่อยครั้ง ๆ ขนาดขึ้นโรงขึ้นศาลเป็นว่าเล่น เพราะเจ้าหน้าที่ผู้เก็บภาษีอากรออกหนังสือสำคัญให้เจ้าของที่ดินไว้ยึดถือ ไม่อาจระงับข้อพิพาทโต้แย้งปัญหาเรื่องกรรมสิทธิได้ เนื่องจากข้อความบนหนังสือ ไม่กระจ่างไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานยืนยันได้

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าจึงโปรดฯ ให้ เจ้าพระยาเทเวศวิวัฒน์ ซึ่งดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงเกษตรธิการ จัดทำทะเบียนที่ดินให้เป็นหลักฐานเกี่ยวกับกรมสิทธิในที่ดินจริงจังและเร่งด่วนด้วยทรงพระราชดำริเห็นว่าที่ดินมีราคายิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อนเป็นอันมาก ย่อมเป็นสาเหตุให้ราษฏรมีข้อพิพาทมากขึ้นอีก สมควรจัดหมายเขตที่ดินนั้นให้มั่นคงยิ่งขึ้น

พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ออกพระบรมราชโองการวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2442 ให้ พระยาประชาชีพบริบาล(ผึ่ง ชูโต) ข้าหลวงเกษตรให้อยู่ในบังคับบัญชาของเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า ออกไปดำเนินการออกโฉนด โดยกำหนดท้องที่ทิศใต้แต่แยกบางไทรขึ้นไปตามฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทิศตะวันตก และตามฝั่งแม่น้ำแควอ่างทอง ทิศตะวันออกไปจนถึงคลองตะเคียนเป็นที่สุดฝ่ายเหนือ

พระยาประชาชีพบริบาลกับเจ้าพนักงานแผนที่ทำการเดินสำรวจครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2444 ได้ถือเอาโฉนดเป็นหลักทะเบียน ซึ่งหลายตำบลในเขตอำเภอบางปะอินมณฑลกรุงเก่าได้รับการออกโฉนดหรือแจกโฉนดให้

ทว่าช่วงเวลานั้นยังไม่มีกฎหมายเป็นหลักในการออกโฉนดชัดเจน พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ออกประกาศพระบรมราชโองการลงวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2444 วางระเบียบเรื่องโฉนดไว้อย่างชัดเจน และพระบรมราชโองการนี้ถือเป็นกฎหมายใช้ในการออกโฉนด

นอกจานี้พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา กรมทะเบียนที่ดิน สังกัดกระทรวงเกษตราธิการขึ้นมา เพื่อจัดการดูแลเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยประกาศเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2444[3]มี นาย ดับบลิว เอ.เกรแฮม ผู้ช่วยเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการเป็นเจ้ากรมคนแรก[4]

ด้วยเหตุนี้กรมที่ดิน จึงถือเอาวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2444 เป็นวันสถาปนากรมที่ดิน

ต่อมาเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2475 กรมทะเบียนที่ดิน ก็ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น กรมที่ดิน สังกัดกระทรวงมหาดไทยตามประกาศพระบรมราชโองการผลัดเปลี่ยนเสนาบดีปลัดทูลฉลอง กระทรวงต่าง ๆ และรวมกระทรวง พ.ศ. 2475

หลังจากนั้นถัดมาอีกหนึ่งปีก็เปลี่ยนชื่อมาเป็น กรมที่ดินและโลหะกิจ พร้อมทั้งโอนมาสังกัดกระทรวงเศรษฐการ เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2476 แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่ไม่นานนักก็ต้องโอนกลับมาสังกัดกระทรวงเกษตราธิการอีกครั้งในอีก 2 ปีต่อมา

ท้ายสุดเมื่อมีพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2484 ต้องเปลี่ยนชื่อกันอีก โดยใช้ชื่อว่า กรมที่ดิน เพียงอย่างเดียวและมาสังกัดกระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันนี้

อำนาจและหน้าที่ แก้

  1. ดำเนินงานออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินให้ราษฎร
  2. ให้บริการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดิน และอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น
  3. จัดที่ทำกินให้ประชาชนตามประมวลกฎหมายที่ดิน
  4. ควบคุมการจัดสรรที่ดิน
  5. การจดทะเบียนอาคารชุด
  6. ควบคุมช่างรังวัดเอกชน

หน่วยงานในสังกัด แก้

ราชการบริหารส่วนกลาง แก้

  • สำนักงานเลขานุการกรม
  • กลุ่มตรวจสอบภายใน
  • กองการเจ้าหน้าที่
  • กองการพิมพ์
  • กองคลัง
  • กองเทคโนโลยีทำแผนที่
  • กองแผนงาน
  • กองฝึกอบรม
  • กองพัสดุ
  • ศูนย์ข้อมูลแผนที่รูปแปลงที่ดิน
  • สำนักกฎหมาย
  • สำนักงานคณะกรรมการช่างรังวัดเอกชน
  • สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร
  • สำนักจัดการที่ดินของรัฐ
  • สำนักเทคโนโลยีสารสนเทศ
  • สำนักมาตรฐานการทะเบียนที่ดิน
  • สำนักมาตรฐานการออกหนังสือสำคัญ
  • สำนักมาตรฐานและส่งเสริมการรังวัด
  • สำนักส่งเสริมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์[5]

ราชการส่วนภูมิภาค แก้

  • สำนักงานที่ดินจังหวัด มีหน้าที่ดําเนินการตามประมวลกฎหมายที่ดิน กฎหมายวาด้วยอาคารชุด กฎหมายว่าด้วยการควบคุมการจัดสรรที่ดิน กฎหมายว่าด้วยช่างรังวัดเอกชน และ กฎหมายว่าด้วยการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมในจังหวัด โดยมีเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัด (อำนวยการ ระดับสูง) เป็นหัวหน้าหน่วยงาน โดยแบ่งส่วนราชการออกเป็น 5 กลุ่มงาน ได้แก่
    • ฝ่ายอำนวยการ
    • ฝ่ายทะเบียน
    • ฝ่ายรังวัด
    • ฝ่ายควบคุมและรักษาหลักฐานที่ดิน
    • กลุ่มงานวิชาการที่ดิน
  • สำนักงานที่ดินจังหวัด สาขา มีหน้าที่ดําเนินการตามประมวลกฎหมายที่ดิน กฎหมายวาด้วยอาคารชุด กฎหมายว่าด้วยการควบคุมการจัดสรรที่ดิน กฎหมายว่าด้วยช่างรังวัดเอกชน และ กฎหมายว่าด้วยการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมในจังหวัด โดยมีเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัด (อำนวยการ ระดับต้น) เป็นหัวหน้าหน่วยงาน โดยแบ่งส่วนราชการออกเป็น 3 ฝ่าย ได้แก่
    • ฝ่ายอำนวยการ
    • ฝ่ายทะเบียน
    • ฝ่ายรังวัด
  • สำนักงานที่ดินอำเภอ ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด มีอำนาจหน้าที่ด้านการทะเบียนที่ดิน และด้านการรังวัด

อ้างอิง แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้