กงเต๊ก (แต้จิ๋ว: 功德) เป็นการทำบุญให้แก่ผู้ตายตามพิธีของนักบวชนิกายจีนและญวน มีการสวดและเผากระดาษที่ทำเป็นรูปต่าง ๆ มีบ้านเรือน คนใช้ เป็นต้น

คำว่า กงเต๊ก เป็นคำสองคำประกอบกัน กง (功) แปลว่า ทำ เต๊ก (德) แปลว่า บุญกุศล

การเตรียมงาน แก้

  1. ติดต่อซินแส หรืออาจารย์ (กรณีที่ต้องการให้มีการดูวันดี) หรือติดต่อวัดในสังกัดคณะสงฆ์จีนนิกาย
  2. ติดต่อเขตที่ผู้ตายอาศัยอยู่เพื่อออกใบมรณบัตร
  3. ติดต่อร้านโลงศพ เกี่ยวกับเรื่องโลงศพ พิธีบรรจุศพ การเคลื่อนศพ ฯลฯ
  4. นิมนต์พระ เพื่อสวดในพิธีบรรจุศพ (นิมนต์พระจีน 1 รูปทำพิธีบรรจุศพลงโลงและตอกโลง พร้อมจูงศพไปวัด)
  5. ติดต่อวัดเพื่อจัดสวดพระอภิธรรม
  6. ติดต่อสมาคมจีนเพื่อให้ทางสมาคมช่วยในการดำเนินพิธีการต่างๆ
  7. ติดต่อคนรับจัดของเซ่นไหว้ (สามารถจัดการเองได้)
  8. ติดต่อผู้ใหญ่ที่นับถือให้เป็นผู้ตอกตะปูโลงศพ (อาจใช้คนของทางสมาคมก็ได้)
  9. ติดต่อพระเรื่องฝังศพ เพื่อสวดมนต์ในระหว่างพิธีฝังศพ (งานฝังนิมนต์พระจีน 1 รูปจูงศพ)
  10. ติดต่อสุสานที่ต้องการจะนำศพไปฝัง
  11. ติดต่อของว่างหรืออาหารในระหว่างสวดพระอภิธรรมศพ
  • ในการเตรียมงานกงเต๊กหากท่านไม่มีความรู้ให้ติดต่อวัดในสังกัดคณะสงฆ์จีนนิกาย ได้ทุกวัด
  • หรือติดต่อมูลนิธิจีนต่างๆ ในการทำพิธี

การเตรียมของให้สำหรับผู้ตาย แก้

เมื่อญาติผู้ใหญ่เสียชีวิตลง สิ่งที่ลูกหลานจะต้องเตรียมมีดังต่อไปนี้

  1. ผ้าคลุมศพ หรือ ทอลอนีป๋วย (หาซื้อได้ที่วัดจีนทุกวัด และร้านขายอุปกรณ์กงเต๊ก)
  2. ใบเบิกทาง หรือ อวงแซจิ้ (หาซื้อได้ที่วัดจีนทุกวัด นิยมซื้อเป็นชุด คือ 1 ลัง ใช้ทั้งงาน)
  3. ภาพของผู้ตายใส่กรอบสำหรับตั้งหน้าโลงศพ
  4. ของใช้ส่วนตัว เช่น
    1. เสื้อผ้าเย็บกระเป๋าทุกใบแบบไม่มีปม (ให้เลือกชุดที่ผู้ตายชอบ)
    2. รองเท้า
    3. ไม้เท้า
    4. แว่นตา (ถ้ามี)
    5. ฟันปลอม (ถ้ามี)
  5. ดอกบัว 3 ดอก
  6. ยอดทับทิม
  7. เอกสารประจำตัวผู้ตาย เช่นบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน เพื่อออกในมรณะบัตร
  8. เงินสด (ค่าใช้จ่ายกรณีเสียชีวิตที่โรงพยาบาล)
  9. ซองอั้งเปาหรือซองแดง (กรณีเสียชีวิตที่โรงพยาบาลเป็นเงินตอบแทนให้กับพยาบาล ที่ช่วยอาบน้ำและแต่งตัวให้ศพ)
  10. เตี๊ยบ (มีเฉพาะของผู้หญิง เป็นเสมือนใบประวัติของผู้ตาย ส่วนใหญ่จะประมูลได้มาจากวัดพระพุทธบาท สระบุรี)
  • หมายเหตุ เย็บกระเป๋าทุกใบ (ต้องเดินด้ายเส้นเดียวเท่านั้น)เพราะกระเป๋าถือเป็นแหล่งทรัพย์สมบัติ ความเจริญรุ่งเรืองที่จะทิ้งเอาไว้ให้ลูกหลาน

เครื่องแต่งกายของลูกหลานในงาน แก้

โดยการแต่งกายของผู้ที่มีความสัมพันธ์ของผู้เสียชีวิตโดยด้านในสุดจะใส่ชุดที่ตัดเย็บที่ผ้าดิบ โดยถือว่าผ้าดิบเป็นผ้าที่มีเนื้อบริสุทธิ์เปรียบดังความรักของบุพการีซึ่งรักเราด้วยความบริสุทธิ์ สว่นด้านนอกจะใส่ชุดที่ตัดเย็บจากผ้าปอหรือผ้ากระสอบ เรียกว่า หมั่วซ่า (จีน: 麻衣) โดยจะมีสีหรือเครื่องหมายแสดงความเกี่ยวข้องต่อผู้ตาย

ลูกชาย แก้

ลูกชายของผู้ตายทั้งหมดและรวมหลานชายคนแรกที่เกิดจากลูกชายคนโต

  • หมายเหตุ หลานชายคนแรกที่เกิดจากลูกชายคนโต ถือว่าเป็นลูกคนสุดท้ายของผู้ตาย
  • ใส่ชุดผ้าดิบด้านใน
  • ชุดกระสอบ ประกอบด้วย
    1. เสื้อ
    2. หมวกทรงสูง ถ้าลูกชายคนใดแต่งงานแล้วจะมีผ้าสี่เหลี่ยมเล็กสีขาว ส่วนคนที่ยังไม่แต่งงานจะเป็นสีแดงติดที่หมวก
    3. เชือกคาดเอวที่มีถุงผ้าเล็กๆ ห้อยไว้
    4. ไม้ไผ่ (เสียบไว้ที่เอว)
  • หมายเหตุ ไม้ไผ่เปรียบเสมือนคบเพลิง เพื่อส่องทาง และ ป้องกันอันตรายขณะเดินทางไปฝังศพ

ลูกสาวที่แต่งงานแล้วและลูกสะใภ้ แก้

  • ใส่ชุดผ้าดิบด้านใน
  • ชุดกระสอบ ประกอบด้วย
    1. เสื้อ
    2. กระโปรง
    3. หมวกสามเหลี่ยมยาวถึงหลัง จะมีผ้าสี่เหลี่ยมสีขาวเล็กติดที่หมวก
    4. เชือกคาดเอวที่มีถุงผ้าเล็กๆ ห้อยไว้ (กรณีของคนที่ตั้งท้อง จะไม่ใช้เชือกคาดเอวคาดไว้แต่ให้ผูกถุงเล็กๆไว้ที่ด้านขวาของ ชุดกระสอบบริเวณเอว)

ลูกสาวที่ยังไม่แต่งงาน แก้

  • ใส่ชุดผ้าดิบด้านใน
  • ชุดกระสอบ ประกอบด้วย
    1. เสื้อ
    2. หมวกสามเหลี่ยม จะมีผ้าสี่เหลี่ยมสีแดงเล็กติดที่หมวก
    3. เชือกคาดเอวที่มีถุงผ้าเล็กๆ ห้อย

ลูกเขย แก้

  • ใส่ชุดเสื้อผ้าสีขาว
  • ผ้าผืนยาวสีขาวสำหรับพันรอบ เอว และเหน็บชายผ้าทั้งสองข้างไว้ข้างเอว (คล้ายๆ ชุดในหนังจีน)
  • หมวกเหมือนลูกชายแต่เป็นสีขาว

หลาน แก้

  • ใส่ชุดเสื้อผ้าสีขาว
  • หมวกผ้าสามเหลี่ยม
    • กรณีที่เป็นหลานใน (ลูกของลูกชาย) หมวกจะเป็นสีขาว
    • กรณีที่เป็นหลานนอก (ลูกของลูกสาว) หมวกจะเป็นสีน้ำเงิน

ถ้าหลานคนใดยังไม่แต่งงานจะมีผ้าสี่เหลี่ยมสีแดงเล็กๆ ติดอยู่ ส่วนหลานคนใดแต่งงานแล้วจะเป็นผ้าสี่เหลี่ยมสีขาว

เหลน แก้

  1. ใส่ชุดเสื้อผ้าสีขาว
  2. หมวกผ้าสามเหลี่ยม
  • ลูกของหลานในชายส่วมหมวกผ้าสามเหลียมสีเขียว (หากแต่งงานแล้วจะมีผ้าสีแดงผืนเล็กๆติดอยู่บนหมวก)
  • ลูกของหลานนอกชายส่วมหมวกผ้าสามเหลี่ยมสีเหลือง


ญาติของผู้ตาย แก้

  • พี่ชายและน้องสาวของผู้ตาย
    • สวมเสื้อสีขาวหรือดำที่เอวผูกสายผ้าสีขาว
  • ลูกของพี่ชายหรือน้องชายที่เรียกผู้ตาย
    • สวมเสื้อสีขาวหรือดำที่เอวผูกสายผ้าสีขาว
  • หลานชาย (นอก) ของลูกสาว
    • สวมเสื้อสีขาวหรือดำที่เอวผูกสายผ้าสีขาวมีสายสีแดงรัดอยู่
  • หลานสาวเรียกผู้ตายว่า "น้า"
    • สวมเสื้อสีขาวหรือดำที่เอวผูกสายผ้าสีขาวมีสายสีแดงรัดอยู่

รูปแบบการทำพิธีกงเต๊ก แก้

แบ่งได้ สี่แบบ คือ พิธีของคนกวางตุ้ง พิธีคนแต้จิ๋ว (ชายหญิง ประกอบพิธีต่างกัน) พีธีของคนฮกเกี้ยน และ พิธีคนแคะ

  1. แบบพระสงฆ์เป็นผู้ทำพิธี ซึ่งถ้าต่างคณะสงฆ์ก็มีรายละเอียดต่างกันชัดเจน อีกทั้งพระสงฆ์จีน และพระสงฆ์ญวน นั้นก็รูปแบบแตกกต่างกันขอยกตัวอย่าง ของกงเต๊กแบบพระจีน
    1. กงเต๊กแบบแต้จิ๋ว
      1. แบบคนตายผู้ชาย จะไม่มีพิธีกินน้ำแดง แต่จะสวดสาธยายพระสูตรต่าง ๆ แทน
      2. แบบคนตายผู้หญิง จะมีพิธีน้ำแดง พิธีกินน้ำแดง เป็นการสอนเรื่องความกตัญญู เลือด หรือน้ำแดง ที่ลูกหลานดื่ม นั้นคือน้ำนมจากแม่
    2. กงเต๊กแบบคนกวางตุ้ง กวางตุ้งจะมีพิธีแตกต่างกัน สังเกตง่าย ๆ คือผ้าโพกหัวจะเป็นสีขาว ไม่ใส่เสื้อกระสอบ และจะต้องมีพิธีโยคะตันตระเปรตพลี (เอี่ยมเค่า) พิธีเปิดประตูนรก
  2. แบบคนธรรมดาประกอบพิธี เป็นผู้ชายสวมชุดพระจีนสีขาว
  3. แบบเต๋าประกอบพิธี เป็นที่นิยมในหมู่ชาวจีนฮกเกี้ยน โดยจะใช้เต๋าเป็นผู้ประกอบพิธี
  4. แบบกงเต๊กจีนแคะ จะเป็นนางหรือ "ชี"(ไจ้จี้) ทำพิธี แต่ไม่ใช่นางชีโกนหัว หากเป็นชีซึ่งเป็นสาวสวย แต่งหน้าทำผม สวยงาม บางท่านเรียกนางชีพวกนี้ว่า “เจอี๊”

พิธีกรรมในกงเต๊ก แก้

การแต่งตัวให้ศพ แก้

ชาวจีนนิยมจัดพิธีศพที่บ้านของผู้ตาย ลูกหลานจะอาบน้ำแต่งตัวและตั้งศพไว้ในบ้าน 1 คืน การแต่งตัวศพ ผู้ชายนิยมใส่ชุดท่อนบน (เสื้อ) 4 ตัว ชุดท่อนล่างเป็นกางเกง 2 ตัว รวมกันเป็น 6 ชิ้น ผู้หญิงนิยมใส่ชุดท่อนบน 4 ตัว ชุดท่อนล่างเป็นกางเกง 2 ตัว ชิ้นนอกสุดเป็นผ้าถุงหรือเป็นชุดกระโปรงแบบจีน รวมเป็น 7 ชิ้น (ผู้ชายเป็นคู่ผู้หญิงเป็นคี่) ชิ้นนอกสุดนิยมเป็นสีม่วงเข้ม

การสวมเสื้อ 4 ตัวนั้น คนจีนสมัยก่อนจะนิยมเย็บเสื้อของตัวเองเตรียมไว้สำหรับสวมในวันตาย โดยชั้นในสุดมักเป็นชุดขาว ชั้นนอกเป็นการแต่งกายให้ผู้ตายดูดีมีเกียรติที่สุด การสวมเสื้อผ้าให้ผู้ตายนั้นมีพิธีที่เรียกว่า"'โถ้ซ้า" (จีน: 套衣) โดยลูกชายคนโตต้องไปยืนบนเก้าอี้เตี้ยๆ ที่หน้าประตูบ้าน สวมหมวกสานไม้ไผ่ บนหมวกปักดอกกุหลาบแดง ตะเกียบ 12 คู่ (เสียบบนหมวก) ยืนกางแขนหน้าบ้านถือเชือก (เพื่อเวลาถอดจะได้ดึงเชือกออกมาพร้อมกัน) ให้คนทำพิธีสวมเสื้อให้ทีละชิ้น เสร็จแล้วถอดเสื้อทั้งหมดออกพร้อมกัน จากนั้นลูกชายเดินออกมาแล้วขว้างหมวกขึ้นไปบนหลังคา แล้วจึงนำเสื้อไปสวมให้แก่ผู้ตาย “คนเป็นสวมกระดุมไว้ข้างหน้า คนตายสวมกระดุมไว้ข้างหลัง” หมายถึงการสวมเสื้อให้ผู้ตายจะสวมเอาด้านหลังของเสื้อมาไว้ด้านหน้า นอกจากเสื้อผ้าแล้วยังสามารถสวมหมวก รองเท้า ถุงมือให้ผู้ตายอย่างเต็มยศ และต้องวางมุก 1 เม็ดไว้ที่หน้าผากของผู้ตาย มุกเปรียบเหมือนแสงสว่างติดไว้ที่หน้าผากเพื่อนำทางหรือเปิดทางให้ผู้ตายเดินทางไปสู่ปรโลก (ชาวกวางตุ้งนิยมนำหยกใส่ลงไปในปากของผู้ตาย)

ขนาดในการทำพิธีกงเต๊ก แก้

ขนาดในการทำพิธีกงเต๊กจะใหญ่ หรือเล็กขึ้นอยู่กับจำนวนพระที่นิมนต์มาสวด ถ้าเป็นกงเต๊กใหญ่จะต้องนิมนต์พระมาสวด 5 รูป ขึ้นไปอาจเป็น 5, 7, 9 หรือ 11 รูป หรือ 21 รูป ก็ได้หากนิมนต์พระ 5 หรือ 7 รูป มาสวดเรียกว่า “จับอ๊วง” หรือ “จับอ๊วงฉ่ำ”หมายถึง การขอขมากรรมต่อ พระยายมราชทั้ง10 ซึ่ง เป็นนินมานรกายของพระพุทธและพระโพธิสัตว์ หากนิมนต์รพระ 9 รูปมาสวด เรียกว่า “โชยฮุกฉ่ำ” หมายถึงขอขมาต่อพระพุทธเจ้าพันพระองค์ หากนิมนต์พระ 11 รูปมาสวด เรียกว่า “เทียงโค่วฉ่ำ” หมายถึงการขอขมาต่อบรรดาพระพุทธและพระโพธิสัตว์ทั่วทุกสารทิศ กรณี นิมนต์พระมาสวดรูปเดียว เรียกว่า “คุยหมั่งโหล่ว” จะสวดในเวลานำศพใส่โลง นิมนต์พระมาสวด 3 รูป เรียกว่า “จุ๋ยฉ่ำ” หมายถึงการสวดขอขมาระลึกถึงพระบารมีของพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตวื เพื่อขอขมาต่อเจ้ากรรมนายเวรในอดีตชาติ คำว่า "ฉ่ำ" แปลว่า ขอขมา คือการ สวดมนต์ขอขมาต่อพระพุทธและพระโพธิสัตว์นั่นเอง

ช่วงเวลาในการทำพิธี แก้

พิธีกรรมงานกงเต๊กจะแบ่งออกเป็น 3 ช่วงเวลา เช้า-บ่าย-ค่ำ โดยทางวัดจีนส่งคนมาจัดสถานที่และเตรียมสิ่งของแต่เช้าตรู่ ก่อนเริ่มพิธีร้านทำของกงเต๊กจะเอาของมาส่งให้ ลูกหลานตรวจนับรับของให้เรียบร้อย แล้วจัดการเอากระดาษทอง ที่เตรียมไว้มากมายล่วงหน้า ใส่ในบรรดาของกงเต๊กชนิดต่าง ๆ ให้มากที่สุด ซึ่งกระดาษเงินกระดาษทองจะมี 3 แบบด้วยกันคือ

  1. แบบตั่วกิม หรือจะเรียกว่าค้อซีก็ได้ เป็นกระดาษเงินกระดาษทองแบบแผ่นใหญ่ ลูกหลานเอามาพับเป็นแบบยาว ๆ แหลม ๆ
  2. แบบกิมจั้ว เป็นกระดาษเงินกระดาษทองแบบแผ่นเล็ก ลูกหลานเอามาม้วนกลม ๆ แล้วปิดหัวท้ายให้แหลม ๆ
  3. แบบทองแท่งสำเร็จรูป เรียกว่า กิมเตี๊ยว

การทำพิธี แก้

ช่วงเตรียมของกงเต๊กนี้ พระจีนจะเป็นผู้เขียน "ใบส่งของ" ให้เหมือนเป็นการจ่าหน้าซองจดหมาย เพื่อให้รู้ว่าผู้รับของคือใคร ผู้ส่งคือใคร ใบกระดาษบอกชื่อผู้ส่งผู้รับนี้ ต้องปิดบนของกงเต๊กทุกชิ้น เช่นเดียวกับที่ลูกหลานต้องเอาเสื้อของผู้ตาย เลือกตัวที่ผู้ตายชอบมากที่สุดเพื่อให้มั่นใจว่าผู้ตายน่าจะจำลายผ้าได้เนื่องจากเสื้อผ้าจะต้องถูกตัดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย เพื่อแปะติดไปกับของทุกชิ้น เพื่อที่ผู้ตายจะได้รู้ว่ากองของกงเต๊กที่เผาไปนี้เป็นของท่านและเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อื่นมาเอาของผิดกองเช่นกัน เพราะแต่ละวันแต่ละวัดจะมีพิธีกงเต๊กซ้อนกันหลายงาน

จากนั้นพระจะประจำที่เพื่อเริ่มพิธีสวดมนต์ ลูกหลานจะใส่ชุดกระสอบเต๊กชุดใหญ่ นั่งประจำหน้าที่พระพุทธ ลูกชายนั่งหน้าสุด ลูกสะใภ้ลูกสาวนั่งแถวสอง ชั้นเขยและชั้นหลานนั่งแถวหลังตามมา ที่เบื้องหน้าลูกชายมี ม้ากงเต๊ก

พิธีเริ่มด้วยการเปิดกลอง 3 ตูมดัง ๆ ปี่พาทย์มโหรีบรรเลงรับพระสวด ประสานมนต์ที่หน้าพระพุทธ และพระโพธิสัตว์ พิธีกรรมช่วงนี้ เรียกง่าย ๆ ว่า สวดเปิดมณฑลสถาน คืออัญเชิญพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลายมาเป็นสักขีพยานในการประกอบพิธีให้บังเกิดความศักดิ์สิทธิ์และเป็นสิริมงคล ในช่วงระหว่างพิธีสวด หลังจากที่พระอ่านเอกสารเรียกว่าฎีกา (ภาษาจีนรียกส่อบุ่ง) ที่ระบุ ชื่อผู้ตาย ที่อยู่ที่เมืองจีน ที่อยู่เมืองไทยบ้านเลขที่ ซอย ถนน เวลาเกิด เสีย ของผู้ตาย และบรรดาชื่อลูกหลาน และระบุว่า ในขณะนี้กำลัจะประกอบพิธีใดที่ไหน เวลาอะไร แล้วก็จะนำเอาฎีกานั้นมาใส่ที่ม้ากงเต๊กพร้อมด้วยการทำพิธีที่ม้า ท่านจะเอาธูป 3 ดอก และเทียนเล่มหนึ่งมาเขียนยันต์ที่หัวม้า พร้อมสวดคาถา และพรมน้ำมนต์จากถ้วยเล็ก ๆ ด้วยนิ้วอย่างมีลีลาน่าดู แล้วใช้ใบทับทิมพรมตามอีกที จากนั้นพระจะสั่งให้ลูกชายคนโตยกม้ากงเต๊กขึ้นจบเพื่อให้เจ้าหน้าที่นำไปเผา ระหว่างพิธีตอนนี้พระรูปอื่นก็ยังสวดมนต์อยู่

หลังจากสวดมนต์เปิดมณฑลสถานเสร็จพระสงฆ์จะพาลูกหลานมายังหน้าโต๊ะไหว้ผู้ตาย (เลงไจ้ ที่สถิตย์ของวิญญาณ) เพื่อทำพิธีสวดเชิญวิญญาณของผู้ตามให้มาร่วมพิธี ในระหว่างที่สวด พระสงฆ์จะทำการเปิดรัศมี (ไคกวง) โคมวิญญาณซึ่งมีชื่อผู้ตายและเสือผ้าของผู้ตายสวมอยู่ กระถางธูปหรือป้ายวิญญาณ รูปถ่าย ของผู้ตาย เพื่อให้ป็นที่สถิตย์แห่งวิญญาณของผู้ตาย หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่จะก็นำบรรดาของไหว้คือ

  1. ข้าว 1 ชาม
  2. เหล้า 1 แก้ว
  3. น้ำชา 1 แก้ว
  4. กับข้าว 3 อย่าง
  5. ซาแซ 1 ชุด (หมู ไก่ เป็ด ปลา ตับ)
  6. ผลไม้ 5 อย่าง
  7. ฮวกก๊วย 1 อัน สีขาว และให้ลูกหลานจบถวาย เมื่อพระสวดเสร็จ ลูกหลานกราบพระ 3 ครั้ง

พิธีต่อมา คือ การเชิญวิญญาณผู้ตายมาร่วมพิธีชำระดวงวิญญาณ (มก-ยก) มักทำในช่วงบ่ายต้น ๆ พระและลูกหลานย้ายมาที่บริเวณหน้าศพ มีการนำห้องน้ำกงเต๊กมาวาง ภายในห้องน้ำมีอ่างขาวใส่น้ำสะอาด และผ้าขนหนูสีขาว ขั้นแรก พระสงฆ์จะสวดเจริญพุทธมนต์เชิญดวงวิญญาณมาร่วมในพิธีและอ่านฎีกา เพื่อขอนำวิญญาณผู้ตายมายังสถานที่ประกอบพิธี หลังจากนั้นจะนำฎีกา ใส่ยังนกกงเต๊ก ให้ลูกชายยกขึ้นจบแล้วเจ้าหน้าที่เอาไปเผา และยกโคมวิญญาณมาให้พระท่านถือไว้ถูกย้ายมาตั้งด้านหน้า พิธีกรรมในช่วงนี้คือ การสวดเชิญวิญญาณมาเข้าพิธี ต่อมาเจ้าหน้าที่จะเอาเสื้อผ้ากงเต๊กมาให้ลูกชายไหว้จบ เพื่อเอาไปเผา หลังจากพระสวดไปได้ครู่หนึ่ง เจ้าหน้าที่จะเชิญ ลูกชายคนโต มาเชิญกระถางธูปหรือป้ายวิญญาณ (ในกรณีธรรมเนียมกวางตุ้ง) ไปยังห้องน้ำ และพระสงฆ์จะสวดมนต์และทำน้ำพระพุทธมนต์ ให้เจ้าหน้าที่นำไปประพรม กระถางธูปหรือป้าย พร้อมกับเทน้ำพระพุทธมนต์ส่วนหนึ่งลงไปในอ่างน้ำที่เตรียมไว้ หลังจากนั้น พระสงฆ์จะสวดมนต์ครู่หนึ่ง เจ้าหน้าที่ก็จะให้ลูกคนโตเชิญกระถางธูปมายังโต๊ะที่พระสงฆ์สวดมนต์อยู่ เพื่อให้พระสงฆ์ทำการประพรมน้ำพระพุทธมนต์อีกครั้ง และจากนั้นพระสงฆ์จะนำลูกหลานเดินไปยังหน้าปะรำพระพุทธ โดยลูกชายคนโตจะเชิญกระถางธูป และลูกชายคนรองถือโคมวิญญาณตามไปด้วย แล้วพระสงฆ์จะสวดขอขมากรรมแทนผู้ตาย ในช่วงนี้ลูกหลานจะต้องกราบพระแทนวิญญาณผู้ตาย หลังจากนั้น พระจะพาเดินกลับไปยังหน้าโต๊ะผู้ตายอีกครั้ง เพื่อเชิญกระถางธูปกลับที่ เป็นอันจบพิธี ซึ่งในพิธีมีความหมายเพื่อชำระอกุศลกรรมขอผู้ตาย ที่ในช่วงที่มีชีวิตอยู่อาจได้กระทำกรรมใดไว้โดยตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจ บันนี้ลูกหลายของผู้ตาย อาศัยความกตัญญูขอขมากรรมเหล่านั้นแทนท่าน


เมื่อเสร็จพิธี ลูกสะใภ้จะถูกตามตัวให้ยกอ่างน้ำในห้องน้ำกงเต๊กไปเททิ้งตามธรรมเนียมที่ลูกสะใภ้ต้องปรนนิบัติพ่อแม่สามี ถ้าไม่มีสะใภ้ก็เป็นหน้าที่ลูกสาวไปแทน

ช่วงบ่ายแก่ ๆ เป็นการไหว้ใหญ่แก่บรรพบุรุษ ของไหว้ประกอบด้วย

  1. ข้าวสวย อย่างน้อย 6 ชาม
  2. เหล้า อย่างน้อย 6 แก้ว
  3. น้ำชา อย่างน้อย 6 แก้ว
  4. กับข้าว 5 อย่าง (เตี่ยเอี๊ยใช้กับข้าว 10 ชาม)
  5. เจฉ่าย 1ถาด
  6. ซาแซหรีอโหงวแซ 1 ชุด
  7. ผลไม้ 5 อย่าง 1 ชุด
  8. ขนมอี๋(อั่งอี๊) อย่างน้อย 6 ถ้วย
  9. ฮวกก๊วยปั๊มตราสีแดง
  10. อั่งถ่อก๊วย
  • จำนวนตะเกียบ จะมีเท่าจำนวนถ้วยข้าว
  • ไหว้บรรพชนนับจากผู้ตายย้อนขึ้นไป3รุ่น คือ พ่อแม่ของผู้ตาย ปู่ย่าของผู้ตาย และปู่ทวดย่าทวดของผู้ตาย

พระทำพิธีสวดมนต์จนถึงตอนที่ลูกหลานต้องทำการไหว้ อาหารให้บรรพบุรุษ เมื่อไหว้สำรับกับข้าวบนโต๊ะแล้ว ก็ตามด้วยการไหว้กระดาษเงิน กระดาษทอง

การไหว้หีบเสื้อผ้าให้บรรพบุรุษ ซึ่งจำนวนหีบเสื้อผ้านั้น จะไม่ถูกกำหนดไว้ตายตัว โดยจะนับตามจำนวนของลูกใน คือคนในแซ่ จึงได้แก่ฝ่ายชายและสะใภ้ส่วนลูกนอกคือลูกสาวถือว่าแต่งงานไปแล้วใช้แซ่อื่น คือ ไปเป็นคนในตระกูลอื่นก็จะไม่ไหว้และไม่ฝากหีบเสื้อผ้าไปให้ แต่ถ้าลูกสาวจะฝากหีบเสื้อผ้าไปให้ด้วยก็ไม่ผิด แต่อย่างใด เสร็จจากการไหว้บรรพบุรุษจะเป็นพิธี "ซึงกิมซัว" แปลว่า ทลายภูเขาทอง เพื่อเป็นนัยอวยพรให้ลูกหลานรุ่งเรือง โดยเป็นการแสดงรำธงของพระจีนปลอม คือผู้ชายใส่ชุดพระสีแดงพร้อมหมวกพระจีนออกมาแล้ว แสดงโชว์เป็นธรรมเนียมเฉพาะ ของคนจีนอำเภอเตี้ยเอี้ยและเป็นธรรมเนียมว่าลูกสาวที่ออกเรือนแล้วจัดมาไหว้บุพการีให้ได้ชมก่อนจะถึงพิธีกรรมการพาข้ามสะพานกงเต๊กไปไหว้พระพุทธในแดนสวรรค์

ก่อนเริ่มพิธีจะต้องมีการไหว้บูชา โดยลูกสาวที่ออกเรือนแล้วเท่านั้นมาจุดธูปไหว้ บอกผู้ตายว่าจะไหว้ "ซึงกิมซัว" ที่หน้าโต๊ะไหว้ ที่ตั้งพิเศษอัญเชิญภาพปฏิมาขององค์อมิตาภพระพุทธเจ้ากับของพิเศษอย่างหนึ่งน่าสนใจมาก เป็นถาดใส่ข้าวสาร ขันน้ำมนต์ เหรียญสตางค์ พร้อมซองอั้งเปา นับตามจำนวนลูกของผู้ตาย ซึ่งถ้าลูกชายคนโตมีลูกชายคนโต ก็ต้องนับเพิ่มอีกหนึ่ง

การข้ามสะพานโอฆสงสาร แก้

พิธีกรรมข้ามสะพานโอฆสงสารของลูกหลาน คือการที่พระพาดวงวิญญาณไปส่งแดนพุทธเกษตร โดยมีลูกหลาน กตัญญูตามมาส่งด้วย นั่นเอง ส่งเสร็จก็ข้ามกลับโดยทุกครั้งที่ข้ามสะพานลูกหลานทุกคนต้องโยนสตางค์ลงในอ่างน้ำ ประหนึ่งเป็นการซื้อทางให้แก่ผู้ตายและตนเอง แต่จะมีข้อสำคัญว่า ถ้าลูกหลานที่เป็นผู้หญิงใครมีประจำเดือนจะไม่ให้ข้ามสะพานทำให้ผู้ตายไปไม่ได้

ก่อนเริ่มพิธีลูกชายคนโตจะต้องไปไหว้บูชาสะพานไหว้ธูป 2 ดอก ขนม และกระดาษเงินกระดาษทอง

พิธีเริ่มจากการสวดมนต์ของพระที่ปะรำหน้าศพ สวดจนได้จังหวะของบทตอน พระทั้งหมดก็จะเดินขบวน โดยพระรูปที่ 2 จะเป็นผู้ถือโคมวิญญาณ ต่อจากแถวพระคือขบวนลูกหลาน โดยจะไล่ตามศักดิ์ และอาวุโส ลูกในที่นี้คือลูกชายนำหน้า ลูกชายคนโตคือหัวขบวน ตามด้วยลูกชายคนต่อ ๆ มา ถ้าลูกชายคนโตมีลูกชายตามศักดิ์แล้วลูกชายคนโตของลูกชายคนโตเท่านั้น ก็จะมาต่อท้าย เป็นลูกชายคนเล็ก แล้วจึงตามด้วยลูกสะใภ้ แล้วตามด้วยลูกสาว ตามด้วยลูกเขย แล้วตามด้วยชั้นหลาน

การข้ามสะพานจะแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือช่วงข้ามไปและช่วงข้ามกลับ ช่วงแรกจะเป็นการพา ดวงวิญญาณข้ามไปส่ง แดนสวรรค์ เมื่อข้ามไปถึงพระจะหยุดขบวน พระจะวางโคมวิญญาณลงกับที่ เหล่าพระทั้งหมดล้วนก้มกราบพระพุทธ มีการจุดธูป 3 ดอก ให้ลูกชายคนโตไหว้ เพื่อเป็นการไหว้พระพุทธแทนตัวผู้ตาย แล้วปักธูปลงในกระถางธูปของผู้ตายเอง จากนั้นขบวนพระก็จะพาขบวนลูกหลานข้ามกลับมายังโลกมนุษย์ โดยจะไม่ถือโคมวิญญาณกลับมาด้วย และขากลับจะต้องข้ามสะพานสวนทางกับขาไป ข้ามไปกี่รอบก็ต้องข้ามกลับจำนวนรอบเท่าเดิม

เมื่อถึงโลกมนุษย์ ขบวนพระก็หยุด ลูกชายคนโตจะนำกระถางธูปไปวางไว้ที่ปะรำหน้าศพ เจ้าหน้าที่จะนำหีบเสื้อผ้าของผู้ตายมาวางโดยมีโคมวิญญาณวางซ้อนบนหีบเสื้อผ้าอีกที จากนั้นลูกหลานนั่งฟังพระสวดต่อ จนจบหนังสือมนต์เล่มสุดท้าย ซึ่งทุกครั้งที่มีการสวดมนต์จบเล่ม พระจะต้องนำ หนังสือมนต์นี้มา ให้ลูกชายเปิดดู แล้วยกสวดมนต์นั้นขึ้นจบถวาย เล่มสุดท้ายก็เช่นกัน

เสร็จพิธี ลูกหลานจะกราบหน้าศพ 4 ครั้ง แล้วเหี่ยมหีบเสื้อผ้ากับโคมวิญญาณเพื่อนำไปเผา เช่นเดียวกับบรรดาของกงเต๊กอื่น ๆ ทั้งหมด ลูกหลานต้องช่วยกันเหี่ยมโดยมีหลักการว่าคนอื่นอาจช่วยยกของได้ แต่ลูกหลานเท่านั้นที่ต้องเป็นผู้เหี่ยมของกงเต๊กทั้งหลาย และต้องเหี่ยมทุกชิ้นไม่ขาดตกสิ่งใด

หมายเหตุ แก้

ในการจัดงานศพแบบจีน ขณะที่แขกคารวะศพ ลูกหลาน ของผู้ตายจะนั่ง 2 ฝั่ง (ลูกชายจะนั่งอยู่ด้านซ้ายและลูกสาวจะนั่งอยู่ ด้านขวาของประรำหน้าศพ) โดยเรียงตามศักดิ์ ลูกในลูกนอกเฉพาะในฝั่ง ของผู้หญิงลูกสะใภ้จะนั่งอยู่หัวแถว เพราะถือว่าลูกสะใภ้เป็นลูกใน และ ลูกสาวที่แต่งงานออกไปเป็นลูกนอกหลังจากนั้นจึงต่อด้วยขบวนหลานๆ ตามลำดับ เพื่อก้มศีรษะขอบคุณแขกที่มาร่วมงาน

รวมของที่ใช้ในงานกงเต๊ก
  • ม้า
  • นก
  • โคม (ถ่งฮวง)
  • ห้องน้ำ
ธรรมเนียมการกราบ
  • พระ กราบ 3 ครั้ง
  • คนตาย (แบบไทย) กราบ 1 ครั้งแบบไม่แบมือ
  • คนตาย (แบบจีน)
    1. กราบ 4 ครั้งแบบแบมือ
    2. กราบแบบคุกเข่า โดยเอามือจับหัวเข่าแล้วก้ม คำนับ 3 ครั้ง (กรณีที่ผู้ตายมีอายุมากกว่า)
    3. ยืนคำนับ โดยการเอามือไว้ข้างลำตัวแล้วโน้มตัว คำนับ 3 ครั้ง (กรณีที่ผู้ตายมีอายุน้อยกว่าหรือเท่ากัน) หมายเหตุ กราบ 4 ครั้งหมายถึง พ่อ-แม่ พ่อ-แม่ มี ความเชื่อว่าถ้ากราบ 4 ครั้งแล้วลูกหลานจะโชคดีทุกเวลา

อ้างอิง แก้

  • "พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ตอน ว่าด้วยเรื่องกงเต็ก" วัดโพธิ์แมนคุณาราม-วัดมังกรกมาลาวาส ร่วมกับพุทธบริษัทไทย-จีน พุทธสมาคม จัดพิมพ์,คณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย,ตุลาคม 2531
  • www.susarn.com