กงซีแยร์เฌอรี

อาคารสมัยกลางในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

กงซีแยร์เฌอรี (ฝรั่งเศส: Conciergerie) หรืออีกชื่อหนึ่งว่า ปาแลเดอลาซีเต (ฝรั่งเศส: Palais de la Cité) เป็นอนุสรณ์สถานที่สำคัญในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ตั้งอยู่บนทิศตะวันตกของเกาะเมือง หรือเกาะอีลเดอลาซีเต (Île de Cité) โดยตั้งอยู่ไม่ไกลจากมหาวิหารน็อทร์-ดามแห่งปารีส กงซีแยร์เฌอรีได้ถูกใช้เป็นพระราชวังหลวงของกษัตริย์ฝรั่งเศสในช่วงศตวรรษที่ 10 ถึงศตวรรษที่ 13 ในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส ตัวพระราชวังได้ถูกใช้เป็นเรือนจำเพื่อคุมขังนักโทษ เพื่อรอการประหารโดยกีโยติน ในปัจจุบันตัวอาคารเป็นพื้นที่หนึ่งของศาลฎีกา

กงซีแยร์เฌอรี
Conciergerie
Le Palais Justice de Paris
แผนที่
ข้อมูลทั่วไป
ประเภทพระราชวังและศาลยุติธรรม
สถาปัตยกรรมยุคกลาง
เมืองปารีส
ประเทศฝรั่งเศส ประเทศฝรั่งเศส
พิกัด48°51′23″N 2°20′44″E / 48.85639°N 2.34556°E / 48.85639; 2.34556
เริ่มสร้างศตวรรษที่ 13
เว็บไซต์
Official website
อนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์

ประวัติ แก้

บริเวณที่ตั้งของอีลเดอลาซีเต เคยเป็นที่ตั้งของพระราชวังของกษัตริย์ในราชวงศ์เมรอแว็งเฌียง ซึ่งใช้เป็นที่พำนักในสมัยช่วงศตวรรษที่ 10 ถึง ศตวรรษที่ 14 พระเจ้าหลุยส์ที่ 9 ได้ทำการต่อเติมแซ็งต์-ชาแปล (Sainte-Chapelle) ซึ่งสร้างในรูปแบบที่วิจิตรที่สุดในสมัยนั้น เพื่อใช้เป็นหอสวดมนต์หลวง และยังเป็นที่บรรจุมงกุฎหนามของพระเยซู ที่นำกลับมาจากสงครามครูเสด และต่อมาในรัชสมัยของพระเจ้าฟิลิปที่ 4 ได้ทำการขยายขอบกำแพงพระราชวังริมฝั่งแม่น้ำ รวมทั้งท้องพระโรงกลาง (La Grande Salle) ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป และห้องด้านล่างท้องพระโรง "La Salle des Gens d'Armes" ที่ยังคงอยู่ในปัจจุบันมีความยาว 64 เมตร กว้าง 27.50 เมตร และสูง 8.50 เมตร ใช้เป็นที่จัดงานพระราชทานเลี้ยง การประชุมสภาขุนนาง ห้องตัดสินคดีความ และรับประทานอาหารสำหรับขุนนางกว่า 2,000 คน พร้อมทั้งเตาผิงขนาดใหญ่ 4 เตา และส่องสว่างโดยหน้าต่างมากมาย ซึ่งปัจจุบันหน้าต่างได้ถูกปิดไว้ และยังมีห้องมุขที่ต่อกับท้องพระโรงกลาง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ทางสถาปัตยกรรมยุคกลางในสมัยนั้น

ต่อมาในรัชสมัยราชวงศ์วาลัวตอนต้นช่วงศตวรรษที่ 14 ยังคงมีการปรับปรุงตัวพระราชวังอยู่เรื่อยๆ จนกระทั่งรัชสมัยของพระเจ้าชาร์ลที่ 5 แห่งฝรั่งเศสได้มีพระประสงค์ให้สร้างพระราชวังใหม่ข้ามฝั่งแม่น้ำไป ซึ่งต่อมาคือพระราชวังลูฟวร์ อย่างไรก็ตามตัวพระราชวังเดิมยังคงใช้เป็นที่ประชุมราชการ และประชุมสภา ในคราวที่พระมหากษัตริย์ไม่อยู่ในพระราชวัง จะมีการแต่งตั้งผู้ดูแลพระราชวังแทนพระองค์ (Concierge) ซึ่งจัดเป็นตำแหน่งที่สูงในสมัยนั้น โดยจัดว่าเป็นเสมือนต้นห้องของพระองค์ ซึ่งตำแหน่งนี้เป็นที่มาของชื่อ กงซีแยร์เฌอรี ในปัจจุบัน

ในปีค.ศ. 1391 พื้นที่ส่วนหนึ่งของอาคารได้ถูกปรับให้เป็นเรือนจำ เพื่อคุมขังนักโทษอาญา และนักโทษการเมือง ซึ่งในสมัยนั้นสภาพความเป็นอยู่ในเรือนจำนั้นขึ้นอยู่สถานะทางสังคม และความร่ำรวยของตระกูล โดยนักโทษชั้นสูงที่มีเส้นสาย หรือร่ำรวย จะถูกขังอยู่ในห้องส่วนตัวที่มีเตียงนอน โต๊ะทำงาน และที่อ่านหนังสือ ซึ่งตรงกันข้ามกับนักโทษทั่วไปจะถูกคุมขังอยู่ในสภาพที่แร้นแค้น ต้องนอนบนกองฟาง ในห้องขังที่มืด เปียกแฉะและอับแสง ซึ่งห้องประเภทนี้มักจะเรียกกันว่า อูบลีแย็ต (Oubliettes) แปลว่า ผู้ที่ถูกลืม ซึ่งในที่สุดมักจะจบชีวิตด้วยโรคระบาดจากสภาพความเป็นอยู่ดังกล่าว

ตัวอาคารประกอบไปด้วยหอคอยที่ถูกสร้างมาตั้งแต่ยุคกลางจำนวน 3 หลัง ได้แก่ หอคอยซีซาร์ ตั้งชื่อเป็นเกียรติแก่จักพรรดิโรมัน หอคอยเงิน ตั้งชื่อตามสมบัติของราชวงศ์ที่เก็บภายในหอคอยนี้ และหอคอย บงเบ็ก ที่ภายในมีห้องทรมานอยู่ โดยตั้งชื่อตามเสียงร้อยโหยหวนของนักโทษ ตัวอาคารที่เหลือ รวมถึงหอนาฬิกาแห่งแรกในฝรั่งเศส ที่ถูกติดตั้งในปีค.ศ.1370 นาฬิกาที่ตั้งอยู่ ณ ปัจจุบันติดตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1535

 
"La Salle des Gens d'Armes" เป็นอีกหนึ่งสิ่งก่อสร้างยุคกลางที่ยังคงอยู่ ณ ปัจจุบัน
 
หอคอยคู่ ถ่ายเมื่อปีค.ศ.2010

สมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัว แก้

ในช่วงสมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัว (the Reign of Terror) ถึงแม้จะกินเวลาสั้นๆ เพียงแค่ 10 เดือน ในช่วงเดือนกันยายน ค.ศ.1793 - กรกฎาคม ค.ศ.1794 มีเหยื่อจากการประหารชีวิตและถูกคุมขังกว่า 40,000 คน กงซีแยร์เฌอรีได้ถูกใช้งานเป็นเรือนจำเพื่อรอการประหาร

นักโทษทั้งหมด จะถูกพิจารณาคดีอย่างรวดเร็ว และไม่สามารถคาดเดาผลได้ นักโทษบางคนถูกพิจารณาคดี และพิพากษาประหารชีวิตในเช้าวันถัดไป โดยนักโทษจะต้องเดินผ่านห้อง Salle de la Toilette และจะถูกริบสมบัติส่วนตัวทั้งหมด และมีรถม้ามารับไปส่งที่บริเวณลานประหารชีวิตด้วยกีโยติน ที่ตั้งอยู่รอบกรุงปารีส โดยที่ทราบกันดีคือ จัตุรัส เดอ ลา กงกอร์ดPlace de la Concorde

นักโทษที่สำคัญได้แก่ พระราชินีมารี อ็องตัวแน็ต กงแต็ส ดูว์ บารี เจ้าหญิงเอลีซาแบ็ต (พระขนิษฐภคินีในพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 แห่งฝรั่งเศส) อ็องเดร เชนีเย (นักประพันธ์) ชาร์ล็อต กอร์แด (นักต่อต้านการปฏิวัติ)

ยุคหลังการปฏิวัติ ถึงปัจจุบัน แก้

ภายหลังการฟื้นฟูราชวงศ์บูร์บงในช่วงศตวรรษที่ 19 กงซีแยร์เฌอรียังคงใช้เป็นที่คุมขังนักโทษสำคัญ รวมถึง หลุยส์-นโปเลียน โบนาปาร์ต ว่าที่ประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐฝรั่งเศส

ห้องที่เคยใช้คุมขังพระราชินีมารี อ็องตัวแน็ต ได้ถูกเปลี่ยนมาเป็นห้องสวดมนต์เพื่อระลึกถึงพระนาง และต่อมาตัวอาคารได้ผ่านการปรับปรุงอย่างมากมายในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 เพื่อเปลี่ยนรูปโฉมด้านนอกอย่างสิ้นเชิง ซึ่งรูปร่างภายนอกที่เห็นกัน ณ ปัจจุบันนั้น ถึงแม้จะดูเก่าแก่แบบยุคกลาง แต่ความจริงได้ถูกเปลี่ยนโฉมใหญ่เมื่อราวปีค.ศ.1858

กงซีแยร์เฌอรี ถูกยกเลิกจากการเป็นเรือนจำคุมขังในปีค.ศ.1914 ได้ถูกเปลี่ยนมาเป็นอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์ในปีเดียวกัน และได้เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมเพียงบางส่วน เนื่องจากตัวอาคารส่วนใหญ่ยังใช้เป็นสถานที่ราชการของศาลฎีกาฝรั่งเศส

ดูเพิ่ม แก้


48°51′22″N 2°20′44″E / 48.856103°N 2.345667°E / 48.856103; 2.345667